posttoday

คืนรัง เพื่อแม่ บทเรียนใหม่ของสาวเมืองกรุง

16 สิงหาคม 2558

ชีวิตที่ดิ้นรนไขว่คว้า ตำแหน่งหน้าที่ รายได้ค่าตอบแทน แม้มีเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขเสมอไป

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

เพียงคำพูดเดียวของแม่ ก็ทำให้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งกำลังก้าวหน้าในการงาน เตรียมจะบินไปรับตำแหน่งใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจคืนรัง กลับบ้านเกิดที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อดูแลแม่ที่ป่วย

“ปี 2552 กำลังจะขึ้นในตำแหน่งผู้บริหาร เตรียมไปประจำที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ได้คุยโทรศัพท์กับแม่ ถามแม่ว่า แม่อยากให้หนูกลับไปอยู่บ้านไหม? แม่ตอบว่า ก็แล้วแต่ลูก ฟังคำตอบแล้วขึ้นอยู่กับเราว่าจะยังไงก็ได้ น้ำเสียงและถ้อยคำรู้สึกเหมือนว่าแม่กำลังต้องการลูกอย่างมาก จึงตัดสินใจกลับไปบ้านที่เชียงคำทันที”

เมื่อได้กลับบ้าน สิ่งที่พบเห็นทำให้ วิไลลักษณ์ แสงศรีจันทร์ หรือแมว สาวไทลื้อวัย 44 ปี ตัดสินใจทิ้งการงานที่เห็นอนาคตความเจริญก้าวหน้า ลาออกจากตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนเดือนละ 6 หลัก เพื่อกลับมาอยู่บ้านกับแม่

“พอกลับมาถึงบ้านเห็นสภาพแม่แล้วตกใจมาก คาดไม่ถึงว่าจะได้มีโอกาสเห็นภาพของแม่ที่นอนป่วยอยู่กับเตียง เดินไปไหนมาไหนไม่สะดวกเหมือนคนปกติทั่วไป ทำให้เราคิดว่า ทำไมการคุยทางโทรศัพท์กับแม่ทุกครั้งน้ำเสียงของแม่ถึงเหมือนคนปกติ นั่นทำให้เราเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะแม่ไม่อยากให้ลูกเป็นห่วง”

วิไลลักษณ์เล่าย้อนหลังไปช่วงก่อนที่จะตัดสินใจคืนรัง กลับบ้านเกิดที่ อ.เชียงคำ ว่า จากบ้านไปเล่าเรียนในเมืองกรุง หลังจบการศึกษา ชีวิตการทำงานรุ่งโรจน์มาก สนุกกับงาน วัยทำงานไม่นานก็มีคู่ชีวิต

“เรามุ่งมั่นและทุ่มเทกับการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ จนลืมไปว่าคนข้างกายก็ต้องการเวลาจากเราด้วยเหมือนกัน ในที่สุดชีวิตคู่ก็ประสบเหตุกลายมาเป็นคนที่ใช้ชีวิตโสดอีกรอบ และโสดยาวจนถึงทุกวันนี้”

เพราะไม่ได้ยึดติดกับเรื่องชีวิตคู่ จึงไม่มีอะไรให้ห่วง ไม่นานนักพ่อก็ล้มป่วยและจากไปอย่างสงบ แต่ความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน ทำให้เธอยังคงใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงต่อไป ขณะที่แม่ก็เริ่มป่วย

“รายได้ในตอนนั้นบอกได้เลยว่าสามารถจ้างพยาบาลดีๆ สักคนมาเฝ้าแม่ก็ได้ แต่เมื่อเสียงปลายทางของแม่ และความคิดถึงบ้าน จึงตัดสินใจไม่ลังเล กลับสู่บ้านที่เชียงคำ”

ไม่นาน หลังเธอตัดสินใจทิ้งหน้าที่การงานและชีวิตในเมืองกรุง แม่ก็จากไปอย่างสงบ เพียงแต่ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับแม่ ก่อนที่แม่จะจากไป เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เธอได้เรียนรู้

“ก่อนหน้าแม่จะเสียไม่นานเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ออกพื้นที่ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากไร้ ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ฯลฯ เลือกเดินทางสายกลาง ยอมรับว่าหลังจากที่แม่เสียใหม่ๆ เคว้งมาก ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนก่อน มันล้า อ่อนแรงไปหมด ในที่สุดก็ได้หลักธรรมเป็นจุดได้ตั้งสติ อยู่กับปัจจุบัน”

วิไลลักษณ์บอกว่า ในวัยเยาว์เธอเติบโตมากับพ่อที่มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้นำ เป็นผู้เสียสละ และทุ่มเทกับเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้มาอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ซึมซับสิ่งที่ดีๆ เหล่านี้ ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสจึงไม่ละเลยที่จะหยิบยื่นโอกาสและความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้

“ระหว่างที่แม่ป่วย ยังออกพื้นที่เยี่ยมผู้ยากไร้ ระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ จ.เชียงราย ด้วยความมีเพื่อนและพี่น้องในที่ทำงานหลายแห่ง ซึ่งยังคงติดต่อกันตลอดมา จึงระดมทุนด้วยการเชิญชวนผู้ใจบุญบริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็นเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว”วิไลลักษณ์เล่าถึงเงินทุนที่นำมาช่วยเหลือผู้คน

คืนรัง เพื่อแม่ บทเรียนใหม่ของสาวเมืองกรุง ช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายจากแผ่นดินไหว

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด ศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย ใกล้เชียงคำบ้านเกิด เมื่อเดือน พ.ค. 2557 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้เธอทำหน้าที่ผู้ประสาน ระดมทุน และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ครั้งนั้นได้ผู้ใจบุญร่วมบริจาคยอดเงินไม่มากมายนัก ประมาณ 2 หมื่นบาทเศษ นำไปมอบให้แก่ครอบครัวที่ยากไร้บ้านโยก เพื่อจะได้หาซื้ออุปกรณ์ซ่อมบ้าน โดยประสานงานผ่านมูลนิธิกระจกเงา จ.เชียงราย อีกส่วนหนึ่งก็นำไปมอบให้แก่ กก.ตชด.32 ค่ายพญางำเมือง จ.พะเยา นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกทางหนึ่ง

“พูดไปก็เหมือนนิยาย (หัวเราะ) แต่ด้วยสัจจริง เพราะอยากกลับมาสู่อ้อมอกของแม่ อ้อมกอดของแผ่นดินเกิด คิดมาตลอดเลยว่าทำไมต้องทำงานหนักขนาดนี้ มีเงิน แต่ไม่มีเวลาใช้ ไม่มีเวลาพักผ่อน ทุกอย่างเพอร์เฟกต์แต่ไม่มีความสุข แล้วเราไม่มีเวลาได้พักผ่อน แต่เมื่อกลับบ้านชนบทของเรา เงินไม่ต้องมาก กับข้าวอยู่ในรั้วบ้าน สวนผักริมรั้ว กับข้าวสำเร็จรูปถุงละ 20-30 บาท แค่นี้ก็สวรรค์แล้วสำหรับคนอย่างเรา (ชอบใจ) ที่สำคัญมีเวลาได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัว”วิไลลักษณ์เล่าถึงชีวิตใหม่ที่เธอได้ค้นพบ ทำในสิ่งที่เธอรัก และเพื่อคนรอบข้างที่รักเธอ

เธอบอกว่า ทุกวันนี้ทำงานเป็นจิตอาสา อาสาจริงๆ ทั้งแรงกาย แรงใจ แรงทุนทรัพย์ ทุกอย่างที่จะเสียสละได้และไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ว่างานราษฎร์ งานหลวง ไม่มีค่าตอบแทนก็ช่วยด้วยความเต็มใจ

เธอได้เรียนรู้และทดสอบตัวตนกับโลก จนประจักษ์แล้วว่า ชีวิตที่ดิ้นรนไขว่คว้า ตำแหน่งหน้าที่ รายได้ค่าตอบแทน แม้มีเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขเสมอไป

“มีเวลาย่อมสามารถหาเงินและเติมความสุขให้ชีวิตได้ บนความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง”