posttoday

กรมศิลป์ฯลุยรื้อสิ่งก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาตในวัดกัลยาณมิตรเพิ่ม

13 สิงหาคม 2558

กรมศิลปากรเดินหน้ารื้อศาลาราย-อาคาร 2 ชั้น ก่อสร้างในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตในวัดกัลยาณมิตร

กรมศิลปากรเดินหน้ารื้อศาลาราย-อาคาร 2 ชั้น ก่อสร้างในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตในวัดกัลยาณมิตร

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวว่า หลังจากกรมศิลปากรได้เข้ารื้อศาลาราย 1 หลังภายใน วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่มีการรื้อโบราณสถานและสร้างใหม่ในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ได้เตรียมจะเข้ารื้อศาลาอีก 1 หลังที่อยู่ใกล้กับพระอุโบสถเนื่องจากสร้างในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน

นอกจากนี้ในปี 2559 จะเข้ารื้ออาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ขนาด 2 ชั้น กว้าง 14 เมตร ยาว 58 เมตร ทรงไทยประยุกต์ภายในวัดที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 26 ล้านบาท ซึ่งอาคารดังกล่าวได้สร้างอยู่บนพื้นที่ประกาศเป็นเขตโบราณสถาน

นายบวรเวท กล่าวว่า กรมศิลปากรเดินหน้าทุกอย่างตามกฎหหมาย เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการเจรจากับวัดกัลยาณมิตรนั้น เคยมีการเจรจาหลายครั้งแล้ว โดยเมื่อ 2551 ได้นิมนต์ พระพรหมกวี (พงศ์สันต์ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ.9) เจ้าคณะภาค 13 และเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร มาร่วมประชุมกับ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และผู้บริหารของกรมศิลปากร ซึ่งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้ขอให้หยุดการก่อสร้าง แต่ทางเจ้าอาวาสก็ไม่หยุด

ทั้งนี้ล่าสุดทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ติดต่อมาที่ กรมศิลปากรผ่านกองนิติการเพื่อจะเจรจาขอให้ยุติการรื้อ ซึ่งเรื่องนี้ต้องคุยกันเป็นประเด็นๆ ไม่ใช่รื้อแล้วจะมาขอเจรจา นอกจากนั้นเท่าที่ทราบ วันนี้ทางวัดได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางกรมศิลปากรได้เตรียมรายงานตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับนายกฯได้ทราบแล้ว

"กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนสิ่งก่อสร้างในวัดกัลยาณมิตรเป็นโบราณสถาน เมื่อปี 2492 มีทั้งสิ้น 89 รายการ ปัจจุบัน ได้ถูกทางวัดรื้อโดยไม่ขออนุญาต 22 รายการ บูรณะโดยไม่ขออนุญาต 5 รายการ กรมศิลปากรดำเนินคดีอาญากับวัด 16 คดี ใน 45 รายการของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ล่าสุดทราบว่าอัยการได้ส่งฟ้องเป็นคดีอาญา กรณีที่รื้อศาลาราย และกรมศิลปากรแจ้งความเมื่อเดือน ม.ค. 2558 หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ผู้ละเมิดจะมีโทษฐานทำลายโบราณสถาน จำคุก 1 ปี และ ปรับ 10 ล้านบาท"อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว