posttoday

ภัยแล้งเริ่มกระทบท่องเที่ยวเหนือ เชียงใหม่เตรียม5แหล่งน้ำรับมือ

16 กรกฎาคม 2558

โดย ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

โดย ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเริ่มส่งผล กระทบต่อการท่องเที่ยว วิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ภาคเหนือ กล่าวว่า จากภาวะฝนทิ้งช่วงจนเกิดภัยแล้งขึ้นขณะนี้ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก น้ำตกที่สวยงามหลายแห่งในภาคเหนือยังคงมีน้ำสวยงาม มีเพียงสถานที่ท่องเที่ยว 2 แห่งที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวล่องแพชมความสวย ขณะนี้น้ำแห้งลงมาก อีกแห่งที่ได้รับผลกระทบคือ ที่อ่างเก็บน้ำอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเคยถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องคิดถึงวิทยา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยหนังดัง ระดับน้ำแห้งมากจนได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว

“การเดินทางมาท่องเที่ยวของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติยังคงเป็นไปตามปกติ สถานการณ์ภัยแล้งจะไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือมากนัก แต่หากเป็นสถานการณ์หมอกควันไฟปกคลุมพื้นที่ กลุ่มนักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญมากกว่า อย่างไรก็ตาม ททท.ภาคเหนือจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินภาวะผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น” ผู้อำนวยการ ททท.ภาคเหนือ กล่าว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ประกาศงดจ่ายน้ำแก่เกษตรกร โดยจะเริ่มจ่ายน้ำในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยส่ง 14 วัน หยุด 7 วัน จนถึงปลายเดือน พ.ย.

วุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา กล่าวว่า เขื่อนแม่กวงฯ คงเหลือน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและส่งให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ก็ยัง เพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาให้กับเมืองเชียงใหม่ เพราะใช้น้ำดิบเพียงเดือนละ 1 ล้าน ลบ.ม.

ด้าน เกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า หากมีการใช้น้ำในเขื่อน 2 แห่งจนหมดแล้ว ชลประทานเชียงใหม่ยังมีแหล่งน้ำสำรองไว้รองรับอีก 5 แห่ง เพราะ จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคที่เป็นปัจจัยสำคัญ

สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ได้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 80 ลบ.ม./วินาที เป็น 85 ลบ.ม./วินาที และสูบน้ำเข้าคลองมหาราช เพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้ามาถึงพื้นที่ จ.ปทุมธานี และบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ขาดน้ำดิบผลิตน้ำประปาใน จ.ลพบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ ซึ่งหากยังไม่มีฝนตกลงมา จะมีน้ำจัดสรรได้อีกประมาณ 17 วัน หรือถึงต้นเดือน ส.ค.เท่านั้น

 

ภัยแล้งเริ่มกระทบท่องเที่ยวเหนือ  เชียงใหม่เตรียม5แหล่งน้ำรับมือ ชาวนา ต.บ้านเชี่ยน จ.ชัยนาท ลงขันซื้อน้ำมันเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้านาข้าว


โบแดง ทาแก้ว
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนคร ศรีอยุธยา กล่าวว่า การส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อให้น้ำไหลมาที่หน้าเขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ จากนั้นดันน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ส่งต่อไป จ.ปทุมธานี ในการทำน้ำประปา โดยต้องขอความร่วมมือให้ชาวนาในเส้นทางน้ำไหลผ่านหยุดสูบน้ำในช่วงนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลดการระบายน้ำเหลือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. และห้ามการสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรในวันที่ 16 ก.ค. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายพื้นที่ชาวนายังคงเร่งสูบน้ำเข้าที่นาให้ได้มากที่สุด โดยชาวนาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สูบน้ำจากแม่น้ำลพบุรี และจากคลองบางพระครู เพื่อส่งน้ำเข้านาปรังเนื้อที่กว่า 1 หมื่นไร่ ในเขตรอยต่อ อ.นครหลวง และท่าเรือ ขณะที่ภาคเอกชนได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งช่วยเหลือชาวนาและหน่วยงานภาครัฐ ในการสูบน้ำเข้าพื้นที่แปลงข้าวนาปรังด้วยเช่นกัน โดยชาวนาส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การสั่งให้หยุดสูบน้ำ ต้นข้าวตายแน่นอน รัฐบาลควรเห็นใจจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยจึงจะเป็นธรรม

มีรายงานว่าเมื่อช่วงค่ำของวันที่15ก.ค. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะได้เดินทางเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองพลับ กรณีที่คาดว่าช้างป่าทั้ง 3 ตัวไม่ได้ตายตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นการตายจากประเด็นสารเคมี หรือ ถูกไฟฟ้าช็อต จนตาย เพื่อให้ทางตำรวจติดตามสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป