posttoday

กทม.ลุยลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์หน้าใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ

06 กรกฎาคม 2553

กทม.จับมือเครือขายเดินหน้าแก้ปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มุ่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ กำชับในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจจริงในการปฏิบัติงาน  

กทม.จับมือเครือขายเดินหน้าแก้ปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มุ่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ กำชับในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจจริงในการปฏิบัติงาน  

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์เอดส์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2553 ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อหาแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ สถานการณ์ยังถือว่าน่าเป็นห่วงเนื่องจากปัจจุบันยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และในจำนวนดังกล่าวผู้ติดเชื้อจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างถูกวิธี

รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกันในสังคม เกิดการยอมรับเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อร่วมใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นที่รังเกียจ กล้าเปิดเผยตนเอง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นระบบ เพื่อให้สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ และควบคุมการแพร่เชื้อ พร้อมทั้งป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเยาวชนด้วย เนื่องจากปัจจุบันระดับอายุของเยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์ลดลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ กทม.เดินหน้าแก้ปัญหาเอดส์อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักการศึกษาพัฒนาหลักสูตรการสอนเรื่องเอดส์และเพศศึกษาในสถานศึกษาในสังกัด พัฒนาศักยภาพครู เครือข่ายผู้ปกครองและเยาวชนแกนนำในระบบการศึกษา สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต อบรมให้ความรู้กลุ่มเป้าหมายตามสถานการณ์ รณรงค์เนื่องในโอกาสสำคัญ เช่น วันเอดส์โลก จัดประชุมคณะกรรมการเอดส์ระดับเขต สำนักการแพทย์ ดำเนินการป้องกันและรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงคุณภาพการป้องกัน ดูแล และรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์แบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยราว 11,750 ราย รับยาต้านไวรัสตลอดชีวิต

สำนักอนามัย บริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์กรุงเทพมหานคร ป้องกันในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ อาทิ ติดตั้งตู้จำหน่ายถุงยางอนามัยในสวนสาธารณะ และในโรงเรียน เจาะเลือดหาผู้ติดเชื้อ HIV พัฒนาบริการสาธารณสุข เยี่ยมบ้านและสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการจัดโครงการชุมชนสัมพันธ์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างยั่งยืนใน 615 ชุมชน โครงการเสริมสร้างสมรรถนะของกลไกการประสานงานและระดมทรัพยากรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด (นำร่องเขตคลองเตย) โครงการสนับสนุนการพัฒนารูปแบบและกลไกการรณรงค์เพื่อป้องกันเอดส์ (นำร่องเขตมีนบุรี) โครงการพัฒนากลไกประสานงานระดับจังหวัดในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงและแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับเครือข่าย ได้แก่ FHI เตรียมความพร้อมคลินิกกามโรคเพื่อให้บริการ MSM ร่วมกับ Path พัฒนาบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน และร่วมกับ UNDP ดำเนินงานในกลุ่ม MSM

อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยเอดส์จากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 – 31 พ.ค. 2553 พบผู้ป่วยสะสม 41,043 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 31,814 ราย เสียชีวิต 9,229 ราย ผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงคิดเป็นอัตราส่วน 2.7 : 1 ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อสูงสุดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 79.26 รองลงมาเกิดจากยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ร้อยละ 10.23 ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.84 อายุระหว่าง 25–39 ปี เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน และร้อยละ 40.17 อาชีพรับจ้าง รองลงมาเป็นผู้ว่างงาน ร้อยละ 13.25 กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดระหว่าง 30–34 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.36 สำหรับสถานการณ์เอดส์ในปี 2553 คาดว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่มีชีวิตอยู่จนถึงสิ้นปี 2553 ในกรุงเทพมหานคร 56,717 ราย รวมทั้งประเทศ 499,324 ราย ซึ่ง 50% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในกลุ่มอายุ 15–24 ปี และระดับอายุของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ปี