posttoday

ตะกรุดหลวงปู่มั่น

05 กรกฎาคม 2558

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เคยอธิษฐานจิตเครื่องรางของขลังไหม? ตามประวัติที่ลูกศิษย์ลูกหาท่านเล่าไว้ ก็ต้องบอกว่ามี

โดย...ประสาร ปัจฉิมชน

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เคยอธิษฐานจิตเครื่องรางของขลังไหม?

ตามประวัติที่ลูกศิษย์ลูกหาท่านเล่าไว้ ก็ต้องบอกว่ามี

คุณอำพล เจน ผู้สันทัดกรณีผู้หนึ่งในวงการนี้ เคยระบุในข้อเขียนชิ้นหนึ่งว่า “...เป็นอันทราบชัดแล้วว่า พระอาจารย์มั่นได้มีได้สร้างวัตถุมงคลที่เรียกว่า ตะกรุดใบลาน แจกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ตะกรุดใบลานไม่อาจประกาศตัวผู้สร้างได้ คงเพียงหวังว่าถ้าใครได้รับตะกรุดใบลานสืบทอดมาจากผู้เฒ่าโบราณ หรืออดีตผู้เฒ่าทหารสงครามโลกในภาคอีสาน หรือจะจำกัดพื้นที่ให้แคบลง คือ ในเขตจังหวัดสกลนคร อุบลราชธานี หรือใกล้เคียงก็อาจตีขลุมว่าเป็นของพระอาจารย์มั่นได้ง่ายขึ้น”

พ่อแม่ครูอาจารย์บางท่านที่เขียนประวัติหลวงปู่มั่น มิได้เล่าเรื่องนี้เอาไว้ แต่ความชัดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเผยในข้อเขียนของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณ ศิษย์หลวงปู่มั่นผู้เคยบวชและอยู่อุปัฏฐากท่านหลายปี ต่อมาได้สึกหาลาเพศแต่ก็ได้กลับไปบวชใหม่ในยามชรา

ท่านเขียนบันทึกดังกล่าวในขณะอายุได้ 75 ปี ต่อมานำมาคัดกรองแยกออกมาตีพิมพ์เป็นหนังสือให้ชื่อว่า “บันทึกวันวาน”

ใน “บันทึกวันวาน” หลวงตาทองคำเล่าถึงบรรยากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างเห็นภาพว่า แม้จะเป็นพระป่าอยู่ห่างไกลความเจริญแต่ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นกัน

หลวงตาทองคำเล่าไว้ในตอน “จากบ้านห้วยแคน” ว่า

“วันหนึ่งประมาณ 20.00 น.เศษ กำลังนั่งอยู่ในซุ้มไฟกับท่านพระอาจารย์ เสียงเครื่องบินกระหึ่มขึ้น บินผ่านหัวไป ท่านฯ บอกให้ผู้เล่าพรางไฟ ผู้เล่าหาอะไรไม่ทันก็เอาจีวรคลุมโปง สองมือกางออก ยืนคร่อมกองไฟไว้จนกว่าเครื่องบินจะบินผ่านไป วนไปวนมา 2-3 ครั้ง ช่างนานเหลือเกิน...เดือน 3 ผ่านไป ซุ้มไฟถูกรื้อถอน เพราะอากาศอบอุ่นขึ้นแล้ว พอเดือน 5 มีชาวบ้านหนองผือ ประมาณ 5 คน ได้ขึ้นมาที่ศาลาที่ท่านฯ พักอยู่ กราบนมัสการแล้วยื่นจดหมายถวายท่านฯ ยื่นให้ผู้เล่าอ่านให้ฟัง เนื้อความในจดหมาย ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ไปพักที่วัดบ้านหนองผือ”

หลังจากนั้นท่านก็รับอาราธนาไปอยู่บ้านหนองผือ

หลวงตาทองคำระบุว่า อยู่ที่นั่นได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน ทั้งกลางวันกลางคืน

พอเข้าพรรษาได้ประมาณครึ่งเดือน ประมาณ 17 วัน

“วันนั้น ดูท่าทางท่านฯ ขรึม เวลาไปบิณฑบาต ปรกติท่านจะชี้นั่นชี้นี่อธิบายไปด้วย วันนั้นเงียบขรึม จุดที่รับบิณฑบาตมีม้านั่งยาวสำหรับให้พร ยถา เปฯ สัพพีเสร็จ ท่านฯ เอ่ยถามชาวบ้านว่า “ป่านี้ข้าศึกศัตรูก็ไม่มีเขายิงอะไรกัน” ชาวบ้านตอบ “ไม่ทราบครับกระผม” ท่านฯ ว่า “ป่าที่นี้มันเป็นดงเสือ ป่าเสือ ข้าศึกศัตรูก็ไม่มีเขายิงอะไรกัน” ชาวบ้านตอบ “ไม่ทราบครับกระผม” ท่านฯ ว่า “ป่าที่นี้มันเป็นดงเสือ ป่าเสือหรือว่าเขาอยากยิงเสือ” ว่าแล้วลุกขึ้นเดินไปบิณฑบาตตลอด 4 แห่งก็พูดอย่างนั้น

ท่านว่า คืนนั้นทั้งเสียงระเบิด และเสียงปืนระงม

รุ่งขึ้นมี “พลพรรค” เป็นไข้ตายในบังเกอร์ 2 คน กระเสือกกระสนไปตายที่บ้านอีก 3 คน ถามว่า เมื่อคืนยิงอะไรก็ได้ความว่า ยิงเสือ ตามที่พระอาจารย์มั่นว่ามาก่อนนั้นแล้วจริงๆ

ท่านว่า “การฝึกพลพรรค ใครๆ ก็กลัวตาย มาขอร้องกำนันให้มากราบเรียนพระอาจารย์ ให้ทำหลอดตะกรุด ผ้ายันต์ ท่านทำอยู่ 15 วัน ก็สั่งหยุดกะทันหัน ยังบอกกำนันว่า ท่านหยุดแล้ว หากกำนันไม่หยุด ท่านจะหนีกลางพรรษา ถือว่าเป็นภัยต่อทางพระวินัย เป็นอันยุติแต่วันนั้น ผู้เล่าไม่เฉลียวใจ จนผ่านมาหลายปี กองโจรพลพรรคได้กลายมาเป็นกองโจรคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ จึงรู้ว่าท่านเล็งเห็นว่า พวกนี้เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ผู้เป็นสัตบุรุษจึงไม่สนับสนุน”

นี่คือ ความชัดเจนว่า ท่านเคยให้ทำแต่ไม่ส่งเสริม

คุณอำพล เขียนว่า ตะกรุดใบลาน แต่ที่ตกทอดมาคือ ผ้ายันต์

ครูบาอาจารย์บางรูปท่านว่า สมัยนั้นแผ่นโลหะทองแดง อะไรพรรค์นี้เป็นของหายาก แม้แต่ผ้า แต่เอาผ้ามาเขียนคาถาลงไปนี่มีดังที่ปรากฏอยู่ในรูปนี้ ซึ่งถ้าไม่มีที่มาที่ดีน่าเชื่อถือได้ ก็คงยากที่จะเชื่อถือ ฉะนั้น ต่อให้ท่านได้สร้างได้ทำไว้บ้างแต่ก็ไม่ชัดและไม่วิเศษเท่ากับธรรมะคำสอนที่ท่านได้บอกสอนไว้ และมีศิษย์บันทึกไว้อย่าง “มุตโตทัย”

เรื่องทั้งหมดก็มีด้วยประการละฉะนี้