posttoday

ฝนหลวงไม่เข้าเป้า แล้งนานถึงปลายปี

25 มิถุนายน 2558

น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวม 22 จังหวัดนั้น มี 4 เขื่อนหลักซึ่ง กักเก็บน้ำ และเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ

ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวม 22 จังหวัดนั้น มี 4 เขื่อนหลักซึ่ง กักเก็บน้ำ และเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาตรน้ำใช้การรวมกันเหลืออยู่เพียง 1,040 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเพียง 6% เท่านั้น

การระบายน้ำของทั้ง 4 เขื่อนรวมกันวันละ 32 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีฝนตกและมีน้ำไหลเข้ามาในเขื่อน เท่ากับว่าจะเหลือน้ำใช้ได้อีกเพียง 32 วันเท่านั้น

ล่าสุด แผนการทำฝนหลวงในพื้นที่เขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง ไม่เป็นไปตามเป้า

รังสรรค์ บุศย์เมือง หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักได้แห้งลดลง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยฝนหลวงเร่งบินทำฝนเทียมบริเวณเขื่อนหลัก เพื่อหวังเติมน้ำในเขื่อนไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก จะบินทำฝนเทียมบริเวณเขื่อนดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีน้ำไม่เพียงพอต่อฤดูแล้งนี้

“หน่วยต้องเร่งบินทำฝนเทียม 5 เที่ยวบิน/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 22 มิ.ย.  จำนวน 168 เที่ยวบิน จำนวนสารเคมีในการทำฝนหลวงจำนวน 164 ตัน และบินไปทำฝนหลวงที่บริเวณเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 45 เที่ยวบิน ได้ผล 100% คือ
ฝนตกทั้ง 45 เที่ยวบิน แต่จากสภาพอากาศแม้จะมีฝนตกก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการเติมน้ำในเขื่อน เนื่องจากฝนตามฤดูกาลมีน้อยมาก จนถึงขณะนี้ยังไม่ค่อยมีฝนตกเลย ซึ่งในปีนี้ก็จะคล้ายปี 2542 และ 2553 ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ฝนก็ล่าช้า ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตร” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก กล่าว

ฝนหลวงไม่เข้าเป้า แล้งนานถึงปลายปี ชาวบ้านหมู่2 ต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท รื้อบ้านหนี หลังระดับน้ำที่ลดลง ทำให้ตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง มีบ้านพังแล้ว 3หลัง

ขณะที่ จ.นครราชสีมา ธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย ชลประทานจังหวัด กองทัพภาคที่ 2 เกษตรจังหวัด อุตุนิยมวิทยา ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนจัดสรรการใช้น้ำให้เพียงพอไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า และวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตที่จะถึง เนื่องจากน้ำในเขื่อนลำตะคองลดลงจนถึงจุดวิกฤต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ในปี 2558 คาดว่าจะมีฝนตกลงมาน้อยกว่าเกณฑ์ และจะมีพายุฝนเพียงแค่ 1 ลูกเท่านั้นที่พัดเข้ามาในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.

โดยในที่ประชุมได้วางแผนแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ด้วยการให้เทศบาลนครนครราชสีมาดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี วันละไม่เกิน 3.5 หมื่น ลบ.ม. เพื่อผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในส่วนของเกษตรกร 1.6 แสนไร่ ได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกนาปีออกไปจนถึงเดือน ส.ค.

ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 40 จังหวัด ขณะนี้คลี่คลายแล้ว 19 จังหวัด ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 21 จังหวัด 142 อำเภอ 813 ตำบล 7,590 หมู่บ้าน คิดเป็น 10.12% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ ประกอบด้วย พิษณุโลก พิจิตร ตาก น่าน อุตรดิตถ์ สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น อํานาจเจริญ สุรินทร์ ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี สระแก้ว ตราด ปราจีนบุรี  และประจวบคีรีขันธ์