posttoday

ค้านแลนด์มาร์คเจ้าพระยา ทำลายวิถีชีวิตคนริมน้ำ

08 มิถุนายน 2558

สิ่งก่อสร้างเพื่อให้เป็นสถานที่สำคัญ ควรถามความเห็นจากประชาชนให้ได้ข้อมูลไปศึกษารอบด้าน

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

โครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนเมืองกรุง โดยโครงการนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับทำหน้าที่ออกแบบก่อสร้างให้เสร็จสิ้นภายในปี 2560 ภายใต้งบประมาณกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่โครงการนี้วาดหวังไว้ ก็คือ เนรมิตจุดเด่นจากสถาปัตยกรรมและการจัดการสถานที่สำคัญของโลกหลายแห่งมารวมกัน คลองชองเกชอน ของเกาหลีใต้ ตึกในเมืองลียง ฝรั่งเศส และถนนริมแม่น้ำซาบาร์มาตี ในอินเดีย

ทว่าในมุมมองของนักวิชาการ การออกแบบดังกล่าวย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะคำนึงถึงปัจจัย อย่างสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของคนที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต

ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส นักวิชาการสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ ฉายภาพว่า สิ่งก่อสร้างเพื่อให้เป็นสถานที่สำคัญ ควรถามความเห็นจากประชาชนให้ได้ข้อมูลไปศึกษารอบด้าน เพราะหากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายคุณค่าธรรมชาติ จะทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย

“โจทย์ที่ว่าจะสร้างพื้นที่ริมน้ำ ใครฟังก็ต้องบอกว่าดี แต่เมื่อดูรูปแบบก่อสร้างแล้วปรากฏว่าคือการนำโครงการทางวิ่งรถยนต์ของเก่ากลับมาใช้ หากมองให้ดีจะพบว่าแนวกั้นน้ำที่อยู่ริมฝั่งมีความสูงถึง 3.25 เมตร สูงท่วมหัวขนาดนี้จะไม่ทำลายทัศนียภาพ ทำลายธรรมชาติถึง 14 กม. ส่งผลกระทบต่อน้ำในลำคลองต้องปิดกั้นเขื่อน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ายังไม่มีการออกแบบที่ชัดเจนและดีกว่านี้” ปองขวัญ กล่าว

นักวิชาการสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ ระบุอีกว่า หลายชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ทราบถึงรูปแบบงานก่อสร้าง เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของ กทม.ลงพื้นที่มาสอบถามความคิดเห็นในวงกว้างและสำรวจผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน รวมถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์

วรชัย พิลาสรมย์ เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ชุมชนวัดกัลยาณ์ ระบุว่า โครงการนี้คือคำนิยามที่ชาวบ้านเห็นภาพแท่งปูนที่ถูกนำลงไปตั้งในแม่น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพน้ำ ทำให้ตะกอนดินสะสมจนตื้นเขินแม่น้ำเล็กลง สุดท้ายโครงการนี้จะทำลายวิถีชุมชน ความสวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยาจะหมดไป เพื่อเปลี่ยนให้เป็นเอเชียทีค หรือยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ก แต่นั่นไม่ใช่วิถีแห่งสายน้ำดั้งเดิม

วรชัย บอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการเรียกผู้นำชุมชน 1-2 คน ไปนั่งฟังบรรยายจากทางภาครัฐ แล้วบอกว่าเป็นการเรียกไปรับฟังความคิดเห็น แท้จริงแล้วคือการเรียกไปฟังสิ่งที่รัฐต้องการจะทำ เซ็นชื่อลงทะเบียนเข้าประชุม จากนั้นสรุปเอาเองว่าชาวชุมชนจำนวน 200-300 คน เห็นด้วยแล้ว

“ความคิดของผู้ที่จะใช้เงินต้องการให้งบประมาณสูงขึ้น การประมูลในระบบราชการมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครจะยอมประหยัด ชุมชนไม่ได้คัดค้านห้ามสร้าง แต่อยากให้ทบทวน สร้างแต่พอดี ให้คุ้มค่าการใช้งานก็พอแล้ว” วรชัย กล่าว

ชุมพล อักพันธานนท์ เจ้าของ “บ้านศิลปิน” แห่งคลองบางหลวง ผู้ถ่ายทอดภาพวิถีการดำเนินชีวิตริมสายน้ำ ความสวยงามทางธรรมชาติ ระบุว่า เวลามีเยาวชนมาเที่ยวที่บ้าน ก็จะได้พบกับสิ่งที่หาไม่ได้จากการนั่งมองรถวิ่งผ่านไปบนถนน ยิ่งทุกวันนี้สภาพแวดล้อมรอบตัวไม่ได้ชักจูงให้เด็กสนใจเรื่องธรรมชาติ ปลูกฝังให้รักในสิ่งแวดล้อม รัฐสนุกอยู่กับการสร้างตลอดเวลาโดยไม่ได้คิดเรื่องใช้ชีวิต

“ดังนั้น เราควรจะหยุดการสร้างได้แล้ว ผมเชื่ออยู่ตลอดว่าสิทธิแห่งความสุขริมน้ำยังคงอยู่ต่อไปได้ ไม่อยากให้การก่อสร้างในโครงการนี้ เป็นเพียงประติมากรรมแห่งความเศร้าที่จะติดตัวคนรุ่นนี้และลูกหลานตลอดไป จึงคัดค้านโครงการที่จะทำลายวิถีแห่งความสุขของคนริมน้ำ และแทนที่รัฐจะพยายามคืนพื้นที่แม่น้ำลำคลองให้ไหลคล่องขึ้น แต่กลายกลับเป็นว่าฝ่ายรัฐเองกำลังเป็นฝ่ายรุกล้ำวิถีสายน้ำด้วยโครงการนี้” ชุมพล กล่าว

สันติ โอภาสปกรณ์กิจ อุปนายกสมาคมปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า แม้นักปั่นจักรยานจะเห็นด้วยที่ กทม.ให้ความสำคัญกับการขี่จักรยาน อยากให้มีเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากสิ่งก่อสร้างไปส่งผลกระทบรบกวนสิ่งแวดล้อม คนขี่จักรยานส่วนใหญ่ย่อมออกมาคัดค้านไม่เอาด้วยแน่นอน ขณะนี้ผ่านเลยจังหวะของการร้องเรียนหรือแสดงพลังแล้ว แต่ถึงเวลาที่นักปั่นจักรยานจะมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบการใช้ถนนร่วมกันอย่างสะดวก ปลอดภัยมากที่สุด ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กทม.กำลังใช้เงินสร้างโครงการยักษ์เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คโดยไม่ถามความเห็นจากนักปั่นจักรยานว่าเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่