posttoday

เพียงคุยก็เข้าใจ พะเยาโมเดล ข้ามขัดแย้งแบ่งสี

17 พฤษภาคม 2558

ผู้เข้าร่วมต้องเปิดใจกว้างที่จะรับฟังผู้อื่น ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เสนออาจจะมีข้อดีแต่บางส่วนอาจมีจุดอ่อนหรือข้อเสียเหมือนกัน

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

“เพียงแค่คุยก็เข้าใจ” อาจฟังดูง่ายเกินไป หากจะนำมาใช้กับการแก้ปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง 2 ขั้ว ที่คุกรุ่นมาเกือบ 10 ปี แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ และกระบวนการเพื่อสร้างความเข้าใจ ก็หาใช่ฉาบฉวยทำเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง แต่ต้องอาศัยความตั้งใจอย่างต่อเนื่อง

6 ปีแล้วที่ ศิริวัฒน์ จุปะมัดถาแกนนำเสื้อแดงพะเยา และ ชุมพล ลีลานนท์ แกนนำของฟากเสื้อเหลือง ซึ่งเห็นต่างทางด้านการเมือง เป็นคู่ขัดแย้งทางความคิด ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง แต่แรกเริ่มที่ได้คุยกันก็ใช่ว่าจะราบรื่น หลักการ ความคิด และจุดยืนของต่างคนต่างแรง แต่เมื่อผ่านการพูดคุย สื่อสารกันหลายครั้งมากขึ้น จากความขัดแย้งในหลักการ ก็ค่อยๆ หลอมรวมมาเป็นความเห็นร่วมในการหาทางออกจากความขัดแย้ง และเสนอข้อเรียกร้องร่วมกันในนาม “ภาคประชาชนชาวพะเยา”

“หลังจากพบหน้ากันครั้งแรกท่ามกลางกระแสความขัดแย้งระหว่างสองสีที่รุนแรงมากครั้งนั้น ทั้งผมและคุณศิริวัฒน์ถูกกระทบ กดดันไม่ต่างกัน ผมโทรหาคุณศิริวัฒน์เพราะเป็นห่วงว่าจะถูกกดดันมากไหม ส่วนผมไม่เท่าไหร่” ชุมพล เล่าถึง สิ่งที่ต้องเผชิญ หลังการพบและร่วมพูดคุยกับศิริวัฒน์ครั้งแรกในปี 2552

เช่นเดียวกับศิริวัฒน์

“กระแสในพะเยาหรือแม้แต่แกนนำระดับแนวหน้าของประเทศก็ไม่เห็นด้วย แต่ผมมีเหตุผลและอธิบายได้ นับจากนั้นมาผมได้มีโอกาสพบปะคุณอุ้ยตลอด ทั้งส่วนตัวไม่เป็นทางการและในเวทีสาธารณะต่างๆ ทำให้ได้พูดคุยกันมากขึ้น กลายเป็นเพื่อนกัน แม้บางความคิดยังไม่ตรงกันแต่ไม่เคยทะเลาะขัดแย้งกัน ถ้าเรายึดหลักการเป็นหลัก”

ในฐานะผู้ริเริ่มกระบวนการพูดคุยของผู้เห็นต่างทั้งสองสี ชัยวัฒน์ จันธิมา ผู้ประสานงาน สถาบันปวงผญาพยาว บอกว่า ต้องการให้ทุกคนใช้ความรู้และเหตุผลที่ดีที่สุดมาอธิบายตามแนวทางหรือข้อเสนอที่เชื่อ จะใช้เวลาต่อเนื่องอย่างไรก็ต้องอดทนจนกว่าจะพอใจทั้งสองฝ่าย

“เวทีนี้จะมีผู้ประสานหรือเอื้อกระบวนการ ช่วยควบคุมกฎกติกาในการพูดคุย มีเวลามีผู้เข้าร่วมหรือคู่ขัดแย้งจะมีสัดส่วนเท่ากัน การพูดคุยเรื่องที่เห็นต่างอาจจะไม่มีข้อยุติ จึงต้องมีการพูดคุยกันต่อเนื่องจนทุกฝ่ายทุกคนพึงพอใจ จึงเรียกว่า ‘ฉันทามติ’ ซึ่งบางทีเวทีแบบนี้ก็อาจจะไม่ได้เปิดให้สาธารณะได้ร่วม เพราะมีบางประเด็นบางเนื้อหาที่ต้องใช้การถกเถียง การทำความเข้าใจ รวมถึงกระบวนการต่างๆ มาดำเนินการด้วย”

พัฒนาการของคนหรือเรื่องที่พูดคุยกัน ชัยวัฒน์บอกว่า การพูดคุยสานเสวนาเป็นกระบวนการที่อาจจะใช้เวลามาก แต่ถ้าเมื่อใดได้ข้อตกลงหรือฉันทามติแล้ว จะทำให้การหาทางออกในปัญหาหรือข้อขัดแย้งดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นทางออกที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนได้รู้ได้เข้าใจ มีการแลกเปลี่ยนกันจนตกผลึก ไม่ได้ยินยอมกันโดยการบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับโดยคะแนนเสียงส่วนมาก แต่เป็นการยอมรับด้วยเหตุผลที่แท้จริง

ชัยวัฒน์ บอกว่า ผู้เข้าร่วมเวทีครั้งแรกอาจจะรู้สึกอึดอัด แต่เมื่อผ่านกระบวนการไปแล้วจะรู้สึกมั่นใจ กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะกระบวนการนี้ให้คนได้พูดเท่ากัน มีความเสมอภาคกันทั้งเวลาและประเด็นเนื้อหาที่จะพูด

“สำคัญที่สุด คือ ผู้เข้าร่วมต้องเปิดใจกว้างที่จะรับฟังผู้อื่น ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เสนออาจจะมีข้อดีแต่บางส่วนอาจมีจุดอ่อนหรือข้อเสียเหมือนกัน เราไม่ได้มีความขัดแย้งเฉพาะประชาชนกับประชาชน บางเรื่องประชาชนก็ขัดแย้งกับข้าราชการ ขัดแย้งกับทุน จากประสบการณ์ผมคิดว่าไม่มีทางออกใดจะแก้สำเร็จหากไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อย ถ้าวันนี้เราไม่คุยกัน ไม่สร้างพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มาหาฉันทามติร่วมกัน เมื่อฉันทามติเกิดขึ้นนั่นหมายถึงความพึงพอใจในผลประโยชน์ร่วมกัน และหากผิดพลาดก็ยอมรับผิดชอบร่วมกัน นี่คือหนทางที่จะนำไปสู่ความสามัคคีและความสุขของคนในชาติอย่างแท้จริง”

ด้าน พิศมัย วงศ์จำปา นักวิชาการสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตพะเยา นักวิจัยในโครงการการพัฒนาข้อเสนอและรูปธรรมของการปฏิรูปประเทศไทยของกลุ่มการเมืองใน จ.พะเยา บอกว่า สิ่งที่ค้นพบจากการทำวิจัยผ่านเวที 4 ครั้งมาแล้วนั้น เห็นถึงความปรารถนาและความตั้งใจผู้คนใน จ.พะเยา ที่ต้องการให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความปรองดองของคนในชาติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านงานวิจัย

ประสบการณ์ที่ได้ร่วมพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนต่างแนวคิดทางการเมือง มาตลอด 6 ปี ศิริวัฒน์ บอกว่า ก่อนที่จะได้พบหน้ากัน ผมคิดในใจว่าอยากรู้เหมือนกันว่าเขาคิดอย่างไร (คนที่คิดต่าง) และก็อยากคุยเพื่อได้รับฟังเขาด้วย เพราะผมคิดว่าทุกปัญหาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดคุยได้

“บางเรื่องก็เห็นเหมือนกัน บางเรื่องก็ต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราได้คุยกันต่างเริ่มเรียนรู้กันและกัน”

เช่นเดียวกับ ชุมพล ซึ่งบอกว่า “มีคนถามว่าอยากคุยกะเสื้อแดงไหม? ผมตอบรับทันทีเลยว่าอยากคุยสิ อยากคุยมาก แต่คิดในใจว่าเขาจะคุยกับเราเหรอ พอได้พูดคุยแลกเปลี่ยน อ้าว! ก็คุยได้ รับฟังกันได้ เพียงแต่ถ้าเรารับฟังกันและกันก็คุยไม่ยาก ขอเพียงแค่เราคุยกันครับ เราจะเข้าใจกันมากขึ้น”

เมื่อเข้าใจ แม้จุดยืนแตกต่างแต่ก็ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ ทุกวันนี้ชุมพลและศิริวัฒน์ร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อ จ.พะเยา ด้วยกันทุกครั้ง

จากผู้เห็นต่างและขัดแย้งกัน แต่ก็ร่วมทางกันได้ ด้วยความเข้าใจ จากการได้พูดคุยกัน