posttoday

ชี้พาณิชย์กักตุนน้ำตาลหวั่นราคาขายปลีกพุ่ง

24 มิถุนายน 2553

ปธ.อุตฯ ภาคกลางลั่นพาณิชย์กั๊กน้ำตาลทราย หวั่น ปชช.ตื่นกักตุน ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีดตัวสูงขึ้น

ปธ.อุตฯ ภาคกลางลั่นพาณิชย์กั๊กน้ำตาลทราย หวั่น ปชช.ตื่นกักตุน ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีดตัวสูงขึ้น

ชี้พาณิชย์กักตุนน้ำตาลหวั่นราคาขายปลีกพุ่ง นายสิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ

นายสิงห์  ตั้งเจริญชัยชนะ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายขาดตลาดในขณะนี้ว่า เป็นผลพวงจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ซื้อน้ำตาลทรายรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่นำน้ำตาลไปใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เดิมมีการสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากต่างประเทศ ซึ่งราคาน้ำตาลทรายถูกกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศ
 
อย่างไรก็ตามจากปัญหาราคาน้ำตาลทรายในต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าในประเทศไทย จึงทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหันกลับมาสั่งซื้อน้ำตาลในตลาดภายในประเทศ จึงอาจเป็นผลให้ปริมาณของน้ำตาลทรายที่กันไว้ในภาคอุตสาหกรรมมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม แต่สำหรับน้ำตาลทรายเพื่อใช้ในการบริโภคของประชาชน ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายที่กระทรวงพาณิชย์มีโควตาเก็บไว้จำหน่ายให้กับประชาชนโดยทั่วไป มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาว่าน้ำตาลทรายจะขาดแคลนแต่อย่างใด
 
นายสิงห์ กล่าวอีกว่า  สำหรับกรณีที่พบว่าน้ำตาลทรายขายปลีกขาดตลาดในช่วงนี้ เนื่องจากผู้ขายได้นำน้ำตาลทรายไปขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะสั่งซื้อในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมากๆ และจะชำระเงินทันที จึงทำให้ผู้ขายไม่นำน้ำตาลทรายในสต๊อกออกมาขายปลีกให้กับลูกค้า ดังนั้นทางกระทรวงพาณิชย์ควรจะนำน้ำตาลทรายที่อยู่ในโควตาออกมาสู่ตลาดขายปลีก เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกและพากันแห่ไปซื้อน้ำตาลทรายเพื่อนำมากักตุน เพราะเกรงว่าน้ำตาลทรายจะขาดตลาด ซึ่งจะส่งผลให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายขายปลีก อันจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในที่สุด
 
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรีมีโรงงานผลิตน้ำตาลทรายด้วยกัน 6 โรง สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ร้อยละ 20 ของน้ำตาลทรายที่ผลิตทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ พบว่า ในปี 2553 มีจำนวนการผลิตน้อยกว่าปี 2552 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงอาจจะสะท้อนตัวเลขให้เห็นว่าน้ำตาลทรายไม่เกิดภาวะคลาดแคลน แต่จะพบว่าในปีนี้มีแนวโน้มว่าน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะมีราคาสูงขึ้นอีก เพราะวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายจะถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนแทน จึงเชื่อได้ว่าในปี 2553 ราคาน้ำตาลทรายจะส่งผลให้อ้อยราคาดีขึ้น ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องถึงรายได้ของชาวไร่อ้อย
 
ด้านน.ส.จินตนา  ชิ้นปิ่นเกลียว ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารขนาดใหญ่จะมีน้ำตาลเป็นต้นทุนหลักของการผลิต ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมจะได้สิทธิน้ำตาลทรายโควตา ค. ซึ่งมีราคาสูงกว่าโควตา ก.ที่ขายอยู่ภายในประเทศ ดังนั้นภาครัฐควรผลักดันให้ราคาน้ำตาลทรายโควตา ค.ปรับลงมาให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตสินค้า
 
น.ส.จินตนา กล่าวอีกว่า ที่สำคัญจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายหลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ที่ส่งผลให้ตัวเลขในการสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างมาก อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่หากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีแนวคิดที่จะปรับลดโควตาน้ำตาลทรายลง ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปได้รับผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้