posttoday

วัดใจเปิดเหมือง เก็บหลักฐานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

11 มีนาคม 2558

หากเกลือถูกลำเลียงไป “ขาย” แทนที่จะนำกลับคืนสู่ใต้ดิน นั่นหมายความว่าพื้นที่ใต้ดินจะกลวงโหว่ สุ่มเสี่ยงต่อการทรุดตัวใช่หรือไม่

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ท่วงทำนองสยายปีกของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน ภายหลังได้รับอนุมัติประทานบัตรอายุ 25 ปี บริเวณ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ (ใต้ดิน) กว่า 7,900 ไร่ เต็มไปด้วยความมั่นใจ

นอกจากภายในเดือน เม.ย.นี้ ที่บริษัทจะหารือผู้ถือหุ้นเพื่อขอจดทะเบียนเพิ่มทุนอีกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท (จากเดิม 2,800 ล้านบาท) แล้ว สมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทยังสำทับความเชื่อมั่นอีกคำรบหนึ่งว่า มีธนาคารหลายแห่งจากหลายประเทศสนใจปล่อยกู้วงเงินสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท

หากเป็นไปตามที่บริษัทคาดการณ์First Product จะเกิดขึ้นได้ในปี 2561 และนับจากนั้นไปอีก 3 ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (แม่ปุ๋ย) ได้เต็มศักยภาพ คือประมาณปีละ 1.1 ล้านตัน มูลค่า 1-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศที่นำเข้าอยู่ประมาณปีละ6-7 แสนตัน

ยังไม่นับเกลือ ที่เป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตที่ได้มากถึงปีละ 3.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งตามแผนของบริษัทจะถมกลับลงไปในอุโมงค์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนรอบข้าง

ทั้งหมดฟังดูดี แต่นั่นก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเคลือบแคลง หรือความกังวล

ว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว เกลือจำนวนมหาศาลที่ได้ในแต่ละปีย่อมมีมูลค่า และเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในธุรกิจปิโตรเลียม

คำถามคือ หากเกลือถูกลำเลียงไป “ขาย” แทนที่จะนำกลับคืนสู่ใต้ดิน นั่นหมายความว่าพื้นที่ใต้ดินจะกลวงโหว่ สุ่มเสี่ยงต่อการทรุดตัวใช่หรือไม่?

มากไปกว่านั้น ก็คือ ด้วยลักษณะเฉพาะของเหมืองโปแตชที่แตกต่างจากเหมืองประเภทอื่น จึงแทบจะไม่สามารถหา “หลักฐาน-ใบเสร็จ” มัดตัวกิจการเหมืองโปแตชได้เลย หากดำเนินการแล้วเป็นต้นเหตุสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ไล่เรียงตั้งแต่ ประเด็นสุขภาพ หากไม่นับพนักงานเหมืองที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเหมืองวันละหลายๆ ชั่วโมงติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว แทบไม่มีโอกาส “พิสูจน์ทราบ” ผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านรายอื่นๆ ในละแวกเหมืองได้เลย

นั่นเพราะ “หางแร่” จากกระบวนการผลิตคือเกลือ ซึ่งร่างกายมนุษย์สามารถขับออกได้เองตามธรรมชาติ และถึงแม้ว่าในอนาคตอาจจะมีชาวบ้านในชุมชนป่วยด้วยโรคไตเป็นจำนวนมาก ก็มีโอกาสที่จะถูกโยนบาปให้เป็นความผิดของชาวบ้านเอง เนื่องจากมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น กินเค็มมากเกินไป

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ “โลหะหนัก” ที่ปนเปื้อนในเลือดของชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งยืนยันได้ว่าเกิดความผิดปกติในร่างกายขึ้นแล้ว

สำหรับ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลแรกคือ ปัญหาน้ำแล้ง เนื่องจากเหมืองโปแตชต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง หรือกว่าปีละ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ว่าน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคของชาวบ้านในพื้นที่จะถูกแย่งใช้

ที่สำคัญ หากเกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้ขึ้นจริง ก็มีโอกาสถูกโยนบาปให้เป็นความผิดของธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อ จ.ชัยภูมิ มีลักษณะเฉพาะคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพาดผ่านมาไม่ถึง นั่นหมายความว่าเป็นจังหวัดที่มีความแห้งแล้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

อีกหนึ่งข้อกังวลคือ ปัญหาดินเค็ม ซึ่งพิสูจน์ทราบได้ยากเช่นเดียวกัน และยิ่งเมื่อผลการสำรวจของ กรมทรัพยากรธรณี ระบุชัดอีกว่า จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่ดินเค็มในระดับปานกลางอยู่แล้ว แม้ว่ากิจการเหมืองโปแตชอาจจะทำให้ดินเค็มมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ถูกโยนบาปให้เป็นความผิดของธรรมชาติเช่นเดียวกัน

แม้แต่เจ้าของรางวัลโกมล คีมทอง ด้านสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2558 อย่าง เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ยังยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานและใบเสร็จจากกิจการเหมืองโปแตชคำตอบเดียวคือการ “เก็บตัวอย่าง” ก่อนเริ่มทำเหมือง เพื่อใช้เปรียบเทียบอ้างอิงในอนาคต

“หากไม่ทำก็จะเป็นเหมือนกรณีเหมืองทองคำพิจิตร ซึ่งจะถูกอ้างว่าผลกระทบต่างๆ เกิดจากสภาพแวดล้อม โดยการตรวจในลักษณะนี้ควรเป็นราคาที่บริษัทต้องจ่าย”เลิศศักดิ์ ระบุ

สอดคล้องกับ รุ่งเรือง เลิศศิริวรกุล ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่บอกว่า จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนเริ่มทำเหมือง และต้องติดตามผลกระทบระยะยาว เช่น สถิติผู้ป่วยไตพุ่งสูงขึ้นตามระยะเวลาการดำเนินกิจการเหมืองหรือไม่

เป็นข้อเสนอที่น่ารับฟัง และเชื่อว่า บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จะยินยอม เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ