posttoday

ยลวิถีเมืองคาร์บอนต่ำ ร่วมใช้ชีวิตอย่าง "โลกไม่ร้อน"

01 มีนาคม 2558

ในแต่ละสัปดาห์จะมีภาพชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ จะร่วมมือร่วมใจเข็นรถขยะนำมาขายให้กับกองทุนเป็นประจำ

โดย...ธนพล ไชยภาษี

ภายใต้ความขัดแย้งที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้อย่างลงตัวในระดับมาโคร ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจอันสุดโต่งของประชาคมโลก กับปัญหาท้าทายอย่าง “โลกร้อน” การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาและปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่เล็กลงมาอย่างในระดับเมือง ชุมชน และหมู่บ้าน นับว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป “โครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา” โดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้ริเริ่มขึ้นในระหว่างปี 2555-2558 เพื่อปลุกจิตสำนึก และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับไมโครที่เล็กลงมาได้อย่างน่าสนใจ สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซ้ำเติมโลกไปได้พร้อมๆ กัน

“ความร่วมมือของชุมชนและคนในพื้นที่” ถือเป็นงานยากที่สุดดังนั้นแนวคิดอันชาญฉลาดของการกำจัดขยะ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ผลิตขึ้นมหาศาลในแต่ละวัน ได้เริ่มขึ้นในเขตเทศบาลเมืองหนองสำโรง อ.เมืองอุดรธานี ในรูปแบบ “ธนาคาร” เพื่อจูงใจประชากรในพื้นที่ จนได้รับการตอบรับจากประชาชนมากกว่า 459 ครัวเรือน ภายใต้ชื่อว่า “โครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองคุ้มครองครอบครัว”

ด้วยที่ตั้งของพื้นที่ที่ประชิดกับเขตเมืองของ จ.อุดรธานี ปัญหาขยะในเขตเทศบาลเมืองหนองสำโรงในแต่ละวันจึงเพิ่มพูนขึ้นมากตามการขยายตัวของเมือง กองทุนขยะจึงได้รับการก่อตั้งขึ้น และมีระบบจัดการในรูปแบบธนาคาร กองทุนจะรับซื้อขยะจากชาวบ้านในพื้นที่เพื่อนำไปขายต่อเพื่อทำการรีไซเคิล

ขณะที่ชาวบ้านเองก็จะได้รับเงินจากการขายขยะในรูปแบบบัญชีเงินฝาก ที่มีผลประโยชน์นอกเหนือจากเป็นตัวเงิน ยังมีการร่วมทุนในรูปแบบ “หุ้น” และยังมีผลประโยชน์ด้านฌาปนกิจที่ชาวบ้านจะได้รับอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากในแต่ละสัปดาห์จะมีภาพชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ จะร่วมมือร่วมใจเข็นรถขยะนำมาขายให้กับกองทุนเป็นประจำ

ในระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2556 ปริมาณขยะรีไซเคิลที่คัดแยกและนำไปจำหน่ายภายในโครงการนี้สามารถนำมาวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้เท่ากับ 30,403.38 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า และในระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค. สามารถวัดได้ 30,403.38 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ในขณะที่ขยะอนินทรีย์หลายประเภท สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นประโยชน์หมุนเวียนได้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งต่างจากขยะประเภทอินทรีย์ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ขยะประเภทนี้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการกำจัดโดยต้องไม่นำไปฝังกลบอันจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าก๊าซคาร์บอนมากถึง 23 เท่า

ยลวิถีเมืองคาร์บอนต่ำ ร่วมใช้ชีวิตอย่าง "โลกไม่ร้อน" สมุดฝากขยะ

โครงการ “สุขภาพดีด้วยขยะอินทรีย์ชุมชน” จึงก่อเกิดขึ้นเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการขยะเป็นทองข้างต้น ซึ่งจะเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยวิธีธรรมชาติ และไส้เดือนดินก็คือพระเอกของงานนี้

ที่บ้านของคุณลุงสมคิด แสวงทรัพย์ วัยกว่า 60 ปี ที่นี่มีบ่อปูนตั้งอยู่ 3 บ่อ ภายในบ่อคือไส้เดือนดินที่ถูกเลี้ยงไว้หลายร้อยตัว เพื่อจำกัดขยะอินทรีย์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเศษผัก ผลไม้ ลังเบียร์ กระดาษ ทิชชู่ และอื่นๆ อีกมาก ปริมาณไส้เดือนเหล่านี้เพียง 1 กิโลกรัม สามารถย่อยสลายขยะได้ 3 กิโลกรัม ภายใน 48 ชั่วโมงทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นทุกอาทิตย์ คุณลุงจะเก็บมูลจากไส้เดือนเหล่านี้นำไปขายได้อีก สนนราคา 60-120 บาท/กิโลกรัม ขณะที่น้ำจากไส้เดือนหรือน้ำหมักจากไส้เดือนก็ต่อท่อรองจากถังเลี้ยงได้อีกสนนราคาถึงลิตรละ 60-120 บาทเช่นกัน ยิ่งไปกว่านี้ภายใต้โครงการนี้ ชาวบ้านในโครงการจะได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลหากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกินกว่า 2 คืนอีกด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า “สุขภาพดีด้วยขยะอินทรีย์ชุมชน”

โดยจากการวัดปริมาณคาร์บอนที่ลดลงได้พบว่า ในระหว่างปี 2556-2557 นั้น พบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ลดลงจะเท่ากับ 1,988 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

แม้ว่าความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของชุมชนเหล่านี้อาจจะดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลที่ถูกปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการใช้พลังงานฟอสซิล โรงงานผลิต การคมนาคม ที่กำลังกลายเป็นปัญหาทั่วโลกในแต่ละวัน แต่อย่างน้อยที่สุด โครงการเมืองคาร์บอนต่ำที่ถือกำเนิดขึ้นนั้นก็ช่วยปลุกจิตสำนึกของประชาชนในระดับไมโครสเกลให้ตระหนักถึงอันตรายของภาวะโลกร้อน และเห็นความสำคัญของการลดการผลิตขยะประเภทต่างๆ ที่ชาวบ้านยังได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นผลพลอยได้อีกด้วย

ยลวิถีเมืองคาร์บอนต่ำ ร่วมใช้ชีวิตอย่าง "โลกไม่ร้อน"

 

ยลวิถีเมืองคาร์บอนต่ำ ร่วมใช้ชีวิตอย่าง "โลกไม่ร้อน" ไส้เดือนกำจัดขยะ