posttoday

ท้าวหิรัญฮูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่วังและโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า

08 กุมภาพันธ์ 2558

วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อของชาวไทยเรื่องหนึ่งนอกจากพระพุทธศาสนา ก็คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สมมติว่าเป็นเจ้าที่

โดย...สสต.

วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อของชาวไทยเรื่องหนึ่งนอกจากพระพุทธศาสนา ก็คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สมมติว่าเป็นเจ้าที่ ที่อยู่คู่กับสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ มีพบทั่วไปตั้งแต่วังถึงบ้านคนธรรมดาสามัญ และรวมถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแห่งนี้ด้วย

เมื่อเราท่านเข้าไปที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นอกจากพบอาคารโรงพยาบาลจะพบเห็นพระที่นั่งต่างๆ ของวังพญาไท ซึ่งทุกวันนี้กำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของวัง ซึ่งเป็นสวนดุสิตธานี ยังมีผู้คนเข้าออกมิได้ขาด เพื่อไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวังพญาไท และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิ่งนั้นได้แก่ ท้าวหิรัญ พนาสูร หรือท้าวหิรัญฮู

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน หรือเขตพระราชวังพญาไท ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก หรือยุโรป

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับพระราชวังพญาไทมาตั้งแต่แรกจนกลายเป็นเสมือนเทพารักษ์เจ้าที่ผู้ปกปักคือท้าวหิรัญพนาสูรตราบเท่าทุกวันนี้

ท้าวหิรัญฮูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่วังและโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า ศาลท้าวหิรัญพนาสูรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

ประวัติท้าวหิรัญ

ความเป็นมาของท้าวหิรัญพนาสูร มีปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวหิรันยพนาสูร” ซึ่งยังคงมีอยู่เป็นหลักฐานที่เป็นลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งทรงเล่าพระราชทานไว้ว่า

“หิรันยอสูร เป็นอสูรชาวป่าที่มีรูปร่างล่ำสันใหญ่โตที่มาเข้าฝันข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จฯ คนหนึ่ง เป็นอสูรผู้ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติที่มาตามเสด็จพระราชดำเนินคอยถวายอารักขาไปในขบวนของพระองค์ท่านตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และกำลังอยู่ในระหว่างเสด็จฯ ไปยังมณฑลพายัพ เมื่อ ร.ศ. 125 หรือ พุทธศักราช 2449

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสกับเหล่าข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ เพื่อให้เป็นที่อุ่นใจว่า

“...ธรรมดาเจ้านายใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤาอสูรอันเป็นสัมมาทิฐิคอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกลายพระองค์และบริพารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จฯ ครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย...”

พระราชดำรัสในครั้งนั้นทำให้บรรดาข้าราชบริพารคลายความหวาดหวั่นต่อไข้ป่าและภยันตรายต่างๆ ที่มีอยู่รอบด้าน ในระหว่างการเสด็จฯ ประพาสมณฑลพายัพ จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาหารไปเซ่นไหว้ที่ป่าริมพลับพลา และเมื่อเสวยค่ำก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องต้นไปเซ่นเสมอทุกๆ วันมิได้ขาด”

ส่วนชื่อของอสูรเจ้าป่าตนนี้ก็พระราชทานให้ตามที่ข้าราชบริพารผู้ฝันเห็นได้เล่าถวายว่า อสูรตอบชื่อตนเองว่า ชื่อ “หิรันย์” (ส่วนชื่อที่มีผู้พูดถึงในเวลาต่อๆ มาว่า “ท้าวหิรันยฮู” นั้น คำว่า “ฮู” คงจะมาจากคำที่ทรงอุทานออกมาเมื่อข้าราชบริพารคนนั้นเล่าถึงเจ้าป่าตนนี้ แต่แรกผู้รู้สันนิษฐานว่า “ฮู” น่าจะเป็นคำที่ทรงอุทานออกมาเป็นภาษาอังกฤษหมายความว่า “ใครกัน” มากกว่า)

เทวรูปท้าวหิรัญพนาสูร 4 องค์

 เมื่อขึ้นครองราชสมบัติ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) นายช่าง กรมศิลปากร กระทรวงวัง ปั้นรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์สูง 25 เซนติเมตร ถือไม้เท้ายาว 23 เซนติเมตร เป็นเครื่องยศด้วยมือซ้าย จบแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน เม.ย. 2454 (ร.ศ.130) พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเซ่นสรวง เชิญหิรันยอสูรเข้าสิงสถิตในรูปสัมฤทธิ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นนี้ในวันที่ 15 เม.ย. 2454 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสมมตอมรพันธุ์ ทรงเป็นผู้เรียบเรียงถ้อยคำประกาศเชิญเทวดาสิงในรูปฯ ตามพระราชกระแสที่พระราชทานมา และทรงขนานนามพระราชทานให้ใหม่ว่า “ท้าวหิรันยพนาสูร” ทรงชฎาเทริดอย่างไทยโบราณและมีไม้เท้าเป็นเครื่องยศถือด้วยมือซ้าย

รูปหล่อสัมฤทธิ์ท้าวหิรันยพนาสูรองค์แรกนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กับพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ซึ่งในปัจจุบัน พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ผู้เป็นบุตรก็ได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีตราบเท่าทุกวันนี้”

หลังจากนั้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง และพระราชทานให้กองมหาดเล็กนำไปประดิษฐานที่กรมมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งราชกรัณยสภาในพระบรมมหาราชวัง

ครั้งที่สาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อด้วยเงินเป็นรูปขนาดเล็กสูง 15 เซนติเมตร สำหรับประดิษฐานที่หน้ารถยนต์พระที่นั่งโอเปิลสีม่วงตอนเดียวซึ่งเป็นรถยนต์พระที่นั่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลเล็กๆ ที่แผนกรถยนต์หลวง กองพระราชพาหนะ สำนักพระราชวัง เป็นที่สักการบูชาของพนักงานขับรถ ช่างเครื่อง และผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น

ต่อมาเมื่อทรงก่อสร้างปรับปรุงพระราชวังพญาไท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขึ้นอีกครั้ง เพื่อประดิษฐานไว้ที่พระราชวังพญาไท โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) ข้าราชการกรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการหล่อรูปขนาดใหญ่กว่าคนจริง โดยมีพระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) เป็นผู้ปั้น นายแกลแลตตี ประติมากรชาวอิตาลีเป็นผู้หล่อ ในวันที่ 15 ก.ค. 2465 และโปรดเกล้าฯ ให้นาย ยี. คลูเซอร์ เป็นช่างผู้สร้างศาล สำหรับประดิษฐานรูปหล่อองค์ใหม่นี้ไว้ที่สวนบริเวณดุสิตธานีตรงตอนท้ายพระราชวังพญาไท สิ้นพระราชทรัพย์ในการหล่อรูป 2,216.25 บาท และในการสร้างศาลและฐานที่ประดิษฐานรูปหล่ออีก 6,000 บาท

ทุกวันนี้รูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูร และท้าวหิรัญพนาสูร ยังคงเป็นที่เคารพสักการะ โดยเฉพาะข้าราชบริพาร มหาดเล็ก ข้าราชการในสำนักพระราชวัง รวมทั้ง แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ตลอดจนผู้เจ็บไข้ที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะมีเรื่องเล่ากล่าวขวัญถึงอิทธิอภินิหารของท้าวหิรัญพนาสูรหลายต่อหลายเรื่อง จึงมีผู้คนแวะเวียนไปสักการบูชา และจ้างนางรำ รำแก้บนมิได้ขาด

นี่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่พระราชวังพญาไท และคู่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยแท้