posttoday

7เดือนจัดระเบียบ กทม.รุกผู้ค้าเอาเปรียบ

27 มกราคม 2558

ระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ กทม.เดินหน้าจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอย แต่ก็ต้องเจอปัญหาจากผู้ค้าที่ออกมาต่อต้านในหลายจุด

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ กทม.เดินหน้าจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอย แต่ก็ต้องเจอปัญหาจากผู้ค้าที่ออกมาต่อต้านในหลายจุด  

กระนั้น กทม.เดินหน้าขยับทีละจุดและสำเร็จไปได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะเห็นว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยยึดทางเท้า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจร เกิดปัญหารถติด

จุดแรกที่ กทม.จัดระเบียบ เริ่มจากจุดเรียบคลองหลอด เดิมที่มีแผงลอยประมาณ 1,000 ราย ได้สั่งย้ายไปเช่าสถานที่ใหม่ย่านดินแดงแทน

ถัดมาเป็นพื้นที่ ถนนรามคำแหง กทม. ออกคำสั่งรื้อถอนร้านค้าที่ขยายต่อเติมหน้าร้านรุกล้ำเข้ามาที่ฟุตปาท แม้ว่าทุกวันนี้จะยังมีผู้ค้าฉวยโอกาสฝ่าฝืนอยู่บ้าง แต่ภาพรวมถนนรามคำแหงทั้งเส้น ปราศจากแผงลอยเต็มทางเท้าเหมือนเคย

พื้นที่ต่อมา คือ ตลาดโบ๊เบ๊ เรียบคลองผดุงกรุงเกษม กทม.กำหนดเวลาขายใหม่ แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้าและกลางคืน ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าเป็นอย่างดี

ส่วนที่ ท่าช้าง-ท่าเตียน เริ่มจัดระเบียบเมื่อวันที่ 20 พ.ย. โดยห้ามตั้งแผงลอยตลอดแนวทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับให้ย้ายไปขายที่ตลาดเทวราช สนามหลวง 2 หน้าสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ และตลาดพลู จากการลงพื้นที่พบว่า มีร้านค้าขายของเปิดบริการเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ที่ถนนสีลม กทม.กำหนดห้ามตั้งร้านขายสินค้าในเวลากลางวัน แต่อนุญาตให้ขายได้ในเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 19.00-02.00 น. ภาพรวมผู้ค้ายอมปฏิบัติตาม และเห็นด้วยที่จะให้ กทม.กำหนดวันทำเป็นถนนคนเดิน เช่นเดียวกับ ถนนข้าวสาร กทม.มีคำสั่งให้รื้อกันสาดที่ยื่นล้ำออกมาในที่สาธารณะ รวมถึงหน้าโรงหนังเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รัชโยธิน ทางเท้าสยามสแควร์ และหน้าบ้านมนังคศิลา ที่ กทม.เข้าไปจัดระเบียบแล้ว

ขณะที่รอบพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนหน้านี้เป็นปัญหามาก เพราะมีร้านค้ากว่า 200 ร้าน กีดขวางทางเดินกินพื้นที่ป้ายรถประจำทาง เพราะแต่ละวันมีผู้คนสัญจรบริเวณอนุสาวรีย์ฯ ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ทาง กทม.อนุญาตให้ขายได้ 2 ช่วง คือเวลา 06.00-15.00 น. อนุญาตผู้ไม่มีบัตรอนุญาตมาขายในจุดผ่อนผันได้ ส่วนเวลา 16.00-24.00 น. อนุญาตเฉพาะผู้ที่มีบัตรเท่านั้น โดยจะไม่เพิ่มพื้นที่จุดผ่อนผันอีก

ที่เป็นงานหินสุด คือ ผู้ค้าคลองถม ที่เรียกร้องขอยืดระยะเวลาออกจากพื้นที่เป็นวันที่ 3 มี.ค.จากเดิมที่ กทม.กำหนดเส้นตายให้ต้องย้ายออกทั้งหมดในวันที่ 3 ม.ค. โดย กทม.อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ทดแทนให้อยู่ เช่น สถานีขนส่งสายใต้เก่าและใหม่ ตลาดท่าดินแดง ห้างโซโห แต่ผู้ค้าไม่พอใจเพราะเห็นว่า ทำเลไม่ดีเท่ากับย่านคลองถม

วิทยา อารีสกุล หนึ่งในผู้ค้าย่านคลองถม ยอมรับว่า ผู้ค้าแผงลอยทั้งหมดจะเสนอขอผ่อนผันต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะพวกเราค้าขายที่นี่มานานแล้ว ไม่อยากย้ายไปขายที่อื่นกลัวว่าลูกค้าจะไม่ตามไป ที่ผ่านมาสามารถเลี้ยงครอบครัวได้หากย้ายไปแล้วก็กลัวไม่มีรายได้

ขณะที่ สุกัญญา ทองศิลป์ ผู้อาศัยอยู่บริเวณถนนวรจักร กล่าวว่า เห็นด้วยที่ กทม.เข้ามาจัดระเบียบ เพราะพวกพ่อค้าแม่ค้าทำมาหากินโดยไม่สนใจสิทธิของผู้อื่น ละเมิดสิทธิคนเดินเท้า เช่น ที่แถวสยาม สีลม ซึ่งเป็นย่านใจกลางเมือง ตอนนี้จะเป็นสลัมไปแล้ว เดินบนทางเท้าไม่ได้ ชาวต่างชาติเห็นก็จะบอกว่าคนไทยไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย

“เวลาเขาจัดระเบียบให้ไปขายที่อื่น พ่อค้าแม่ค้ามักเอาความจนมาอ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วพวกนี้รวยรายได้เยอะกว่าพนักงานออฟฟิศเสียอีกหรือถ้ายากจนจริง ก็ไม่มีสิทธิอ้างในการทำผิดกฎหมาย” สุกัญญา กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า การจัดระเบียบทางเท้าเป็นนโยบายให้เกิดผลถาวร จะไม่มีการหวนคืนกลับมาที่เดิมอีก เรื่องนี้ผู้ค้าเอาเปรียบประชาชน ตั้งร้านขายแบบง่ายๆ อีกส่วนเกิดจากเทศกิจที่เข้าไปมีผลประโยชน์

ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สก.กทม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.ทุกยุคทุกสมัย พยายามหาทางขอคืนทางเท้ามาโดยตลอด แต่ติดขัดเรื่องการทำมาหากิน

“ที่ยึดทางเท้าค้าขายโดยไม่สนใจสิทธิของคนส่วนใหญ่ ทั้งยังไม่เคยเสียภาษีอีกด้วย แตกต่างจากร้านค้าอาคารพาณิชย์ ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องเข้มงวดเรื่องกฎหมาย ในอนาคตอาจมีการขึ้นทะเบียนหาบเร่แผงลอย จัดเก็บภาษีให้ชัดเจน” ประธาน สก.กทม. กล่าว