posttoday

เอกชนหนุน'ฮับเรือยอชต์'สานฝันเพิ่มรายได้พันล้าน

15 มกราคม 2558

ในความเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน นักท่องเที่ยวระดับอภิมหาเศรษฐี เดินทางเข้ามาด้วยเรือสำราญหรือเรือยอชต์เพิ่มมากขึ้น

เรื่อง...อชัถยา ชื่นนิรันดร์
         
ในความเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน จุดหมายที่นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเดินทางมาเยือนปีละหลายล้านคน ใช่เพียงแต่อากาศยาน เที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักระดับอภิมหาเศรษฐี ซึ่งเดินทางเข้ามาด้วยเรือสำราญหรือเรือยอชต์ก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
         
ปัจจุบันท่าเรือยอชต์หรือท่าเรือมารีน่าใน จ.ภูเก็ต มีทั้งหมด 5 แห่ง เป็นท่าเทียบเรือเอกชน 4 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือยอชต์ ฮาเวน มารีน่า ท่าเทียบเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ท่าเทียบเรือภูเก็ตโบต ลากูน ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า และท่าเทียบเรือรัฐบาล 1 คือ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะรองรับกับเรือยอชต์ที่มีเข้ามามากขึ้น ทำให้รัฐบาลโดยมติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบที่จะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการ จอดเทียบท่าเรือยอชต์ภายในปี 2558 นี้เห็นชอบที่จะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการ จอดเทียบท่าเรือยอชต์ภายในปี 2558 นี้
         
ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวว่า เรือยอชต์ที่เข้ามาแต่ละปีประมาณ 1,500 ลำ มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี มารีน่าของเอกชน 4 แห่งรับจอดเรือได้ประมาณ 849 ลำ และมีพื้นที่จอดบนบกได้อีก 270 ลำ ชี้ให้เห็นว่าดีมานด์ที่จะเข้ามามีอีกมาก และการอนุญาตให้ซูเปอร์ยอชต์เข้ามาทำชาร์เตอร์ ทำการค้าในน่านน้ำไทยคงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
         
"การดำเนินการขณะนี้มีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งในส่วนกฎหมายสิ่งแวดล้อม การต่อต้านจากชุมชน เอ็นจีโอ ซึ่งยังมีความเข้าใจผิดต้องทบทวนแก้ข้อจำกัดเหล่านี้ หากต้องการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นมารีน่าฮับอย่างจริงจัง"
         
ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นฮับเรือยอชต์ใช่เพียงแต่ด้านการท่องเที่ยว ผู้อำนวยการ เจ้าท่าภูเก็ต เปิดเผยว่า มารีน่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ การทำอู่ซ่อมเรือ การจ้างแรงงานส่วนภาคบริการเกี่ยวเนื่องมากมาย กิจกรรมที่ส่งเสริมเรือยอชต์ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลได้มากกว่าผลเสีย
         
"ข้อมูลการศึกษาการอนุญาตให้ซูเปอร์ยอชต์เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทย มีรายได้ปีละกว่าพันล้านบาทขึ้นไป เรือยอชต์ที่เข้ามาจอดลำละหลายร้อยล้านบาทต้องจ่ายค่าจอด ค่าดูแลเฉลี่ยลำละ 1 ล้านบาท/เดือน แนวโน้มการเติบโตของเรือยอชต์และกลุ่มมารีน่าเป็นไปด้วยดี ส่วนอนาคตมีการปรับปรุงการอนุญาตให้การค้ากับ ซูเปอร์ยอชต์นั้นสามารถดึงเข้ามาไทยได้อีกมาก ซึ่งตัวเลขของซูเปอร์ยอชต์มีประมาณ 250 ลำ แต่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 5-6 ลำเท่านั้น"
         
ด้าน มนชนก ชูวิเชียร ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า อ่าวสะปา อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจมารีน่ามานานหลายปีบอกว่า ท่าเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศระดับเศรษฐีมาใช้บริการจำนวนมาก โดยมีที่พักบริการกลุ่มเรือยอชต์หลายแบบที่ได้รับความนิยมมาก คือ อะความิเนียม เป็นคอนโดมิเนียมที่สามารถนำเรือยอชต์จอดใต้อาคารได้ และรอยัลวิลล่านำเรือยอชต์จอดหน้าวิลล่าได้ทุกหลัง
         
"กลุ่มเจ้าของห้องพักหรูเหล่านี้จะเป็นรัสเซีย ตุรกี จีน ไต้หวัน และคนไทย ส่วนกลุ่มลูกค้าทั่วไปนำเรือยอชต์จอดในพื้นที่รวมจะเป็นกลุ่มสแกนดิเนเวีย สิงคโปร์ จ่ายค่าจอดเฉลี่ยเดือนละ 6 หมื่น-2 แสนบาท/ลำ จำนวนที่มาจอดกว่า 250 ลำ/เดือน เรือแต่ละลำราคา 120-250 ล้านบาท แนวโน้มตลาดมีมากขึ้น ซึ่งทำให้รอยัล ภูเก็ต  มารีน่า เปิดขายคอนโดมิเนียมเพิ่มอีก 2 อาคาร รวม 80 ยูนิต ราคายูนิตละ 5 ล้านบาท ถึง 9.5 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2559 ยอดจองขณะนี้มีกว่า 40% แล้ว การที่รัฐบาลให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางเรือยอชต์ จึงเป็นสิ่งดีและเห็นด้วยอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมกลุ่มตลาดเรือยอชต์และการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ต" มนชนก กล่าว

สันติ ป่าหวาย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กลุ่มเรือยอชต์ถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมามีการส่งเสริมจัดโปรแกรมให้กับกลุ่มเรือยอชต์ เช่น จัดแรลลี่เรือสำราญให้สนุกสนานกับการท่องเที่ยวและกีฬาผนวกกันไป ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย

บรรยายใต้ภาพ : รอยัลวิลล่าที่จอดเรือยอชต์ภายในภูเก็ต มารีน่า