posttoday

"ก่อกาญจน์ดี"เพื่อ"กาญจนบุรี"ที่ดีกว่า

20 ธันวาคม 2557

ถือกำเนิด “ก่อกาญจน์ดี” พลังที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก เพื่อกาญจนบุรีที่ดีกว่าเก่า

ถือกำเนิด “ก่อกาญจน์ดี” พลังที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก เพื่อกาญจนบุรีที่ดีกว่าเก่า 
 
สมาพันธ์เครือข่ายก่อกาญจน์ดี ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของคนธรรมดาๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางด้านวัย อาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจสังคม แต่ทุกคนมีเป้าหมายและความสนใจเดียวกัน นั่นคือ “อยากทำให้กาญจนบุรีน่าอยู่มากขึ้น อยากช่วยพัฒนากาญจนบุรีให้ดีกว่าเดิม” และนี่คือเป้าหมายที่พวกเรา – กลุ่มคนก่อกาญจน์ดี - มีร่วมกัน
           
ได้เปิดตัวตัวอย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ณ บริเวณสนามหญ้าข้างกำแพงเมืองเก่า ภายใต้ชื่องาน “ดนตรีและบทกวีข้างกำแพงเมือง บทที่ ๒ ตอน ถือกำเนิดคนก่อกาญจน์ดี” มี อ. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ มี น.ส.จิตตินทร์ ฤทธิรัตน์ เป็นเลขาธิการสมาพันธ์ฯ โดยที่ทำการ (ชั่วคราว) อยู่ที่หอสมุดรัชมังคลาภิเษก ถ. แสงชูโต ต. บ้านเหนือ อ. เมือง จ. กาญจนบุรี และมีเพจ เครือข่ายก่อกาญจน์ดี http://m2.facebook.com/powerofkan?ref=stream
           
สำหรับ โลโก้สมาพันธ์ฯ ประกอบด้วยสี 3 สี คือ เขียว ฟ้าและน้ำตาลทอง  ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของกาญจนบุรีที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และงดงามด้วยป่าไม้ แม่น้ำ และเทือกเขา รวมทั้งสินทรัพย์ในดินที่เป็นแร่อัญมณีต่างๆ คนที่จับมือกันแสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนหลากหลายวัยที่มารวมกันและเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ตรงกลางของโลโก้มีสัญลักษณ์ที่สำคัญสองอย่าง คือ ประตูเมืองเก่า สัญลักษณ์ของการก่อร่างสร้างเมืองใหม่หลังสิ้นสุดยุคของการสู้รบครั้งสำคัญเพื่อรักษาเอกราชปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย (สยามในอดีต) ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมของกาญจนบุรีทั้งในปัจจุบันและอนาคต สัญลักษณ์ที่สำคัญทั้งสองนี้ตั้งอยู่บนแควคนละสาย แต่ไหลมารวมกันก่อตัวเป็นรูปตัววี V (Victory แปลว่า ชัยชนะ) หรือปีกนก หมายถึงจิตที่เป็นอิสระ มุ่งมั่นทำตามเจตนารมณ์เพื่อชัยชนะของทุกคนที่ปลายทาง
            
หลักการและแนวทางการทำงานของสมาพันธ์ฯ
1.เป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร
2.คณะทำงานทุกคนเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นค่าจ้าง
3.ทำงานด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
4.ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
5.ไม่ส่งเสริมและไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงทุกรูปแบบ (ทั้งคำพูดและการกระทำ)
6.ยึดเกียรติภูมิ ความซื่อสัตย์และผลประโยชน์ของส่วนรวมเหนือสิ่งอื่นใด
7.ส่งเสริมความโปร่งใส (transparency) และการตรวจสอบได้ (Accountability) ในองค์กร
8.ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการพูดคุย การทำความเข้าใจและการลงมือทำอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ
         
เป้าหมายรวมขององค์กร เพื่อร่วมสร้างจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าเที่ยว สะอาด ปลอดภัย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมทางเลือกที่หลากหลายสำหรับทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน  โดยมีมาตรการต่างๆ ที่ส่งเสริมการจัดการ การใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรม เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วม และสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ระบบธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

วัตถุประสงค์ขององค์กร

1.เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่จังหวัดกาญจนบุรี
2.เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมเชิงรุกในการบริหารจัดการ อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชุมชน พื้นที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และพื้นที่ๆ มีคุณค่าทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
3.เพื่อสร้างพื้นที่ทางศิลปะวัฒนธรรมและการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน คนทำงานด้านศิลปะและสาธารณะชน และการมีส่วนร่วมดูแลรักษามรดกทางศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่น
4.เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทุจริตและการบริหารราชการที่ไม่โปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด
5.เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความร่วมมือแก่สมาชิก/พันธมิตรของสมาพันธ์ฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสมหากไม่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาพันธ์ฯ
6.เพื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กรอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนหากสอดคล้องกับเจตนารมย์และเป้าหมายของสมาพันธ์ฯ

สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งมีความสนใจร่วมกันในประเด็นต่างๆ ซึ่งสามารถแยกออกมาได้เป็น4ประเด็น ดังนี้คือ
1.ศิลปะวัฒนธรรม
2.พื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน ทางเท้า สวน
3.สิ่งแวดล้อมชุมชน เช่น ขยะ แม่น้ำ มลภาวะ
และ 4.การบริการราชการด้วยหลักธรรมาภิบาลต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ความสนใจร่วมกันของสมาชิกสมาพันธ์เครือข่ายก่อกาญจน์ดีดังกล่าวเป็น “จุดเชื่อม” ที่สำคัญยิ่ง ที่ทำให้พวกเรารวมกันได้ภายใต้ชื่อ “ก่อกาญจน์ดี” ในวันนี้   เรายึดประเด็นความสนใจร่วมนี้เป็นพื้นฐานในการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กรนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้ง  ประเด็นทั้งหมดนี้มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเห็นพ้องต้องกันว่าอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เข้าข่าย “วิกฤติ”  เช่น ปัญหาเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อมชุมชน มลภาวะ และการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่านี้และแก้ไขโดยทันที  ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้นำไปสู่การวางแผนจัดทำโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร  

ในภาพรวม เรามีความเห็นที่สอดคล้องกันว่ากาญจนบุรีจะเป็นเมืองและจังหวัดที่น่าอยู่มากกว่านี้ ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ หากว่า บ้านเมืองเราสะอาดขึ้น ปราศจากขยะในพื้นที่สาธารณะ เช่น ริมทางและในแม่น้ำ เรามีสถานที่ๆ ส่งเสริมการแสดงออกด้านศิลปะวัฒนธรรม เช่น หอศิลป์ ลานบ้านลานเมือง เราแต่ละคนเคารพสิทธิของกันและกันในการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน ทางเท้า สวนสุขภาพ สวนสาธารณะ ฯ และหวงแหนใส่ใจพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม กาญจนบุรีมีการบริหารราชการโดยยึดประโยชน์ของชาติเป็นหลัก  โปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น พวกเรา – คนเมืองกาญจน์ – สามารถก้าวข้ามความแตกต่างและมารวมพลังที่เข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียว
           
สมาพันธ์ฯ มีความคาดหวังว่าเราจะได้รับโอกาสในการทำงานเพื่อสนับสนุนและร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเราตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในแต่ละส่วน ทิศทางการทำงานของสมาพันธ์ฯ จะสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรเสมอ คือ การช่วยทำให้กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่น่าอยู่มากขึ้นและสามารถคงไว้ซึ่งความสวยงามทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมได้ต่อไป
           
โครงการและกิจกรรมหลักๆ ที่คาดหวังว่าจะทำในปี 2558

1.จัดกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นประจำทุกวันเสาร์ของเดือน ตลอดปี
2.จัดกิจกรรมเป็นประจำทุกเดือน  เดือนครั้ง  เพื่อส่งเสริม รณรงค์ด้านการรักษาความสะอาด สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และการร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ๆ มีคุณค่าด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม
3.สร้างหอศิลป์ (ชั่วคราว) ณ หอสมุดรัชมังคลาภิเษก ถนนแสงชูโต  โดยการปรับปรุงพื้นที่เดิม
4.จัดงาน “บทกวีและดนตรีข้างกำแพงเมือง” เป็นประจำ เพื่อสร้างสำนึกความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งของชาวกาญจนบุรี สร้างพื้นที่เพื่อความบันเทิงอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อระดมทุนสนับสนุนการทำงานของสมาพันธ์ฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และ 5.จัดงานประจำปีของสมาพันธ์ฯ

สำหรับรายชื่อกลุ่มและองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง อาทิ กลุ่มก่อกาญจน์ดี, กลุ่มเมืองกาญจน์ ๗๑๐๐๐, กลุ่มจิตอาสา บ้านหนองขาว, กลุ่มถนนคนเดิน ท่าม่วง, กลุ่มศิลปินอิสระ, กลุ่มต้นน้ำแคว, ชมรมถ่ายภาพกาญจนบุรี, กลุ่มกาญจน์รถถีบ, กลุ่มอารยะกาญจนบุรี, สภาเด็ก กาญจนบุรี, กลุ่มภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์, หนังสือพิมพ์โพสท์นิวส์, กลุ่ม KanCover Dance Club, กลุ่ม Kan Filmaker, เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก, ประชาคมงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยงกาญจนบุรี, กลุ่มเยาวชนจิตอาสา วังขนาย, โครงการชุมชนบ้านมั่นคง, กลุ่มประชาชนทั่วไป หลากหลายอาชีพ (ไม่สังกัดกลุ่ม)

“ก่อกาญจน์ดี” พลังที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก เพื่อกาญจนบุรีที่ดีกว่าเก่า