posttoday

เครือข่ายประมงหวั่นติดแท็กพะยูนทำสูญพันธุ์

16 ธันวาคม 2557

ตรัง-เครือข่ายประมงพบผู้ว่าฯขอคำชี้แจงโครงการติดแท็กพะยูน หวั่นกระทบวงจรชีวิตสัตว์อนุรักษ์ใกล้สูญพันธุ์

ตรัง-เครือข่ายประมงพบผู้ว่าฯขอคำชี้แจงโครงการติดแท็กพะยูน หวั่นกระทบวงจรชีวิตสัตว์อนุรักษ์ใกล้สูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 16ธ.ค.ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง สมาคมหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน เครือข่ายคนรักษ์เล ตรัง กระบี่ สตูล รวมประมาณ 30 คน  นำโดย นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด นายไมตรี วิเศษศาสตร์ และนายแสวง ขุนอาจ ประชุมร่วมกับ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง  และนายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  เพื่อขอคำชี้แจงกรณีที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ดำเนินโครงการติดแท็กแซทเตอร์ไลท์พะยูน เพื่อศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่  รวมทั้งแหล่งอาหารหญ้าทะเล และเส้นทางการอพยพย้ายถิ่นบริเวณท้องทะเลตรัง  ซึ่งเป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเลและมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
  
นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า  โครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านที่อาศัยฐานทรัพยากรในพื้นที่ทำกิน ซึ่งเกรงว่าการดำเนินการของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับวิถีวงจรพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีสถิติการตายต่อเนื่อง และอาจทำให้พะยูนย้ายถิ่นฐานออกไปจากจังหวัดตรัง โดยไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หรืออ้างการศึกษาวิจัยชีวิตพะยูน เพื่อเป็นโครงการดึงงบประมาณมหาศาล แต่ผลที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่ากับการกระทำ  เพราะจังหวัดตรังต้องศูนย์เสียทรัพยากร ซึ่งเป็นมรดกของลูกหลาน และเป็นของคนทั้งชาติ เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
  
ดังนั้น โครงการติดแท็กแซทเตอร์ไลท์พะยูน ควรมีวิธีการจัดการที่ชัดเจน รัดกุม และรบกวนพะยูนให้น้อยที่สุด เพราะอาจเกิดการผิดพลาด ทำให้พะยูนบาดเจ็บ เกิดการติดเชื้อ และตายไปในที่สุด  ซึ่งพวกตนอยากถามว่า ใครจะรับผิดชอบหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น  เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมาพะยูนก็ตายลงอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะควบคุมอยู่แล้ว  จึงขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมียุทธศาสตร์จังหวัดตรัง เพื่อจัดทีมพิทักษ์พะยูนและสัตว์ทะเล แต่ก็ยังไม่ผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน  ยังมีการปล่อยปละละเลย ให้มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ลักลอบทำประมงแบบล้างผลาญ ส่วนประมงพื้นบ้านก็ไร้การเหลียวแล มีแต่หวังจะหาผลประโยชน์จากทรัพยากร โดยเฉพาะพะยูน ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง
  
ด้าน นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า ก่อนที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าว ตนได้มีการคัดสรรบุคลากรที่เป็นมืออาชีพมาร่วมทีม มีการศึกษาวิจัย วางแผนการทำงาน รัดกุม รอบคอบทุกด้าน  และยืนยันว่าหากสำเร็จจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์มหาศาล  เพราะจะเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัยวงจรชีวิต ทราบถึงแหล่งอยู่อาศัย และเอื้อต่อการกระบวนอนุรักษ์พะยูนต่อไป  โดยจะไม่เป็นอันตรายกับพะยูน ทำให้บาดเจ็บ หรือล้มตายจากสาเหตุนี้  ซึ่งตนจะมีการเขียนรายละเอียดทุกอย่างเป็นเอกสารเพื่อแจกจ่ายให้กับทุกฝ่ายที่สนใจ  แต่คงไม่สามารถเปิดเผยทุกขั้นตอนได้ เพราะเกรงผู้ที่ไม่หวังดี หรือกลุ่มล่าสัตว์ทะเล ล่วงรู้วิธีการและอาจเป็นภัยกับทรัพยากรเหล่านี้ได้  ส่วนการอนุรักษ์พะยูนให้ได้ผล จะต้องจัดการกับเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย  รวมทั้งจัดโซนนิ่งแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน และสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมาชาติ
  
นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า  ต่อไปนี้จะสั่งให้ดำเนินการกับผู้ที่ทำประมงผิดกฎหมายทุกชนิดโดยใช้วิธีการทางกฎหมาย และจะไม่ผ่อนผันอีกต่อไป เพราะได้คุยเรื่องนี้การมานานแล้ว  พร้อมยอมรับว่าหลังจากที่ตนมาดำรงตำแหน่ง 2 ปี ยังไม่เคยมีผู้ใดร้องของบประมาณจากทางจังหวัด เพื่อจัดการอนุรักษ์พะยูนแบบจริงจัง  ทั้งที่ทางจังหวัดมีแผนหรือยุทธศาสตร์จัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่แล้ว และพร้อมจะดำเนินการทันที หากหน่วยงานส่วนภูมิภาคร้องขอ หรือให้กลุ่มต่างๆ ไปหารืองบประมาณผ่านทางอำเภอเพื่อนำเสนอเป็นโครงการตามขั้นตอน  สำหรับโครงการติดแท็กแซทเตอร์ไลท์พะยูนนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี  เพื่อที่จะสามารถทราบถึงวงจรพะยูน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม