posttoday

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

16 พฤศจิกายน 2557

สัมภาษณ์ "นิวัติ ตั้งวัฒนา" ผอ.วิทยาลัยอาชีวะศึกษาสุรินทร์ เจ้าของไอเดียให้นักศึกษาอาชีวะนุ่งซิ่นมาเรียน

โดย…นรินทร์ ใจหวัง

สมกับคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ฯลฯ ” หลังจากมีการแชร์ภาพนักนักศึกษาหญิงของวิทยาลัยอาชีวะศึกษาสุรินทร์ที่แต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหมท้องถิ่นแทนกระโปรงมาวิทยาลัย ก็ส่งผลให้ได้รับเสียงชื่นชมจำนวนมากกระหึ่มโลกออนไลน์

"นิวัติ ตั้งวัฒนา" ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะศึกษาสุรินทร์ ลูกหลานคนเมืองสุรินทร์แท้ๆ เจ้าของไอเดีย ชุดนักศึกษาผ้าซิ่นไหม เล่าถึงไอเดียให้นักศึกษานำผ้าซิ่นไหมสวมใส่มาสถานศึกษาว่า ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นแม่ และญาติพี่น้องแต่งกายด้วยซิ่นผ้าไหมมาตั้งแต่เด็ก  ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างดีว่า เกือบทุกครัวเรือนของชาวสุรินทร์ต้องมีผ้าไหมเป็นอีกหนึ่งมรดกที่ตกทอดกันมา

"เมือเสร็จสิ้นจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ก็เป็นเวลาที่ผู้หญิงจะปลูกม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าเพื่อเก็บไว้ใช้เองทุกบ้านไป  แต่กว่าจะมีโอกาสได้สวมใส่ก็ต้องรอเวลางานบุญ งานวัด หรืองานมงคลต่างๆ จึงจะนำผ้าทอลวดลายสวยงามออกมาใส่อวดกัน"นิวัติกล่าว

จากตรงนี้เอง ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์จึงหารือกับเหล่าคณาจารย์จนได้ข้อสรุปว่าจะเริ่ม ให้นักศึกษากว่า2,500คน แต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหมในทุกๆ วันศุกร์ ซึ่งตรงกับวันที่มีการทำบุญตักบาตรในวิทยาลัยพอดี

วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์ถูกตั้งให้ศูนย์แฟชั่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่แล้ว  แต่โครงการให้นักศึกษาแต่งกายด้วยผ้าไหม มีแนวคิดที่สืบเนื่องมาจาก เมื่อช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยมีโอกาสได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่จากจังหวัดนครสวรรค์ ผมจึงคิดว่าสุรินทร์เนี่ยเป็นถิ่นผ้าไหม เหมือนกับคำขวัญอยู่แล้ว  จึงจัดให้นักศึกษาแผนกอาหาร แผนกโรงแรมใส่ผ้าซิ่นไหมกับเสื้อยูนิฟอร์ม ประดับเข็มขัดโลโก้ของวิทยาลัยมาช่วยงานทั้งหมด 

ปรากฏว่าทั้งครูและนักศึกษาวันนั้นแต่งกายได้สวยงาม สุภาพ มีเสน่ห์ และน่ารักมาก ผู้ใหญ่ก็ชื่นชม และแนะว่าอยากให้เด็กๆ แต่งกายแบบนี้บ้างมาเรียนบ้าง  เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย  เพราะเด็กสมัยใหม่บางคน แทบจะนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่นกันไม่เป็นแล้ว  ผนวกกับในทุกวันศุกร์คณาจารย์ก็จะใส่ชุดผ้าพื้นเมืองกันอยู่แล้วด้วย  จึงปรึกษากับคณะกรรมการสถานศึกษาให้มีนโยบายว่า ในทุกวันศุกร์ของภาคเรียนที่2 จะกำหนดให้นักศึกษาหญิงแต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหม กับเสื้อยูนิฟอร์ม ส่วนนักศึกษาชายแต่งชุดตามระเบียบเดิม แต่ให้เพิ่มผ้าคาดเอวจากผ้าพื้นเมืองแทน  โดยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมานี่เอง"

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

ก่อนหน้าที่จะได้เห็นภาพนักศึกษาแต่งกายกันสวยงามแบบนี้ ผอ.นิวัติเล่าว่าในสัปดาห์แรกๆ ยังมีนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วย จึงมีเพียงบางคนเท่านั้น ที่ใส่ผ้าซิ่นมาเรียน แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆ  ใส่แล้วดูดี สวยงาม จึงเริ่มทยอยใส่กันมากขึ้นเรื่อยๆ 

“สัปดาห์แรกเมื่อวันที่ 24 ต.ค.มีแต่งมาแค่ 40-50 คนเอง  พอดีบริเวณนี้จะมีสถานศึกษากว่า7แห่งอยู่ใกล้ๆ กัน ในตอนเช้าผมสังเกตเห็นว่าผู้ที่พบเห็น  ผู้ปกครองที่มาส่งนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ เขามองด้วยสายตาที่ชื่นชม และแปลกใจว่าวันนี้เป็นวันอะไร ทำไมเด็กอาชีวะศึกษาแต่งกายเป็นผ้าซิ่นไหมมาเรียน  และพอเข้าสัปดาห์ที่2  นักศึกษาเขาก็คงเห็นว่า ใส่แล้วมันบุคลิกดี สวยงาม ก็แต่งมามากขึ้น จากนั้นเข้าสัปดาห์ที่3 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา นักเรียนเริ่มแต่งกายด้วยผ้าไหมมาเป็นส่วนใหญ่กว่า80% มองไปมีลวดลายสวยงามหลากหลาย หลังจากเลิกแถว เด็กๆเขาก็ถ่ายภาพลงเฟชบุ๊ก ส่งไลน์หากัน และมีคนแชร์ต่อกันไป จนเป็นข่าวในที่สุด”ผอ.นิวัติกล่าวอย่างภูมิใจ

“ผ้าไหมสุรินทร์ จำนำได้” หลังจากภาพเหล่านักศึกษาอาชีวะสุรินทร์ถูกอวดโฉมไปทั่วอินเทอร์เน็ต เหล่าคนออนไลน์ก็มาแสดงความคิดเห็นกันอย่างชื่นชม บางครั้งก็ได้ความรู้ ไปด้วย หนึ่งในความคิดเห็น ให้ความรู้ว่า ผ้าไหมสุรินทร์สามารถนำไปจำนำได้ เราจึงป้อนคำถามนี้แก่ผอ.นิวัติ หนึ่งในลูกหลานเมืองช้าง ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์รีบตอบทันทีว่า

“ผ้าไหมสุรินทร์สามารถนำไปจำนำได้จริง เพราะคุณภาพดี สวยงาม ไม่แพ้ของจังหวัดอื่น และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก สนนราคาตามลวดลายและขนาด ซึ่งทอหน้ากว้าง120-150เมตร ก็ตก800 บาทขึ้นไปถึงหลายพัน ในปี2546 รัฐบาลไทยมีโอกาสได้จัดการประชุมเอเปก ผ้าไหมสุรินทร์เคยได้มีโอกาสถูกนำไปตัดชุดให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้สวมใส่ด้วย”

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

ขณะเดียวกันในกระแสโลกออนไลน์บางทรรศนะมองว่า การแต่งกายด้วยผ้าพื้นบ้านกับยูนิฟอร์มนักเรียนนักศึกษาแบบนี้ เป็นการลอกเลียนประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่  ซึ่งผอ.นิวัติเชื่ออย่างสนิทใจว่า ไม่มีใครเลียนแบบใคร แต่ท้องถิ่นก็ต่างมีประเพณีที่ดีงามของตนเอง

"แต่ละพื้นถิ่นมีประเพณีสืบทอดกันมา  ไทยไม่ได้ไปเลียนแบบลาว  ลาวไม่ได้เรียนแบบไทย ผมโตมาที่จังหวัดนี้ ผมก็เห็นแม่ผมนุ่งผ้าถุงแล้วนะ แต่ละพื้นถิ่นเขาก็มีวัฒนธรรมของเขา เพียงแต่ปัจจุบันกระแสใหม่ๆ มันเข้ามามาก  ทำให้กระแสเก่าๆ เลือนหายไป ซึ่งถ้าเราจับเอาสิ่งเก่าๆ มาปัดฝุ่นใหม่  ฟื้นฟูบ้าง อย่างที่เห็นนักเรียนบ้างคนนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่นไม่เป็นก็หันกลับมา สนใจ เพราะเขาเห็นแล้วว่า มันสวยงามกว่านุ่งกระโปรงเสียอีก

"เมื่อก่อนตอนครูอาจารย์ พูดหน้าเสาธง ไม่ค่อยมีเด็กสนใจ ตอนนี้ผมให้ครูแผนกเสื้อผ้ามาสาธิตการจับจีบหน้านางผ้านุ่งให้ดู นักเรียนนิ่งเงียบ ตั้งใจฟังกันทุกคน เพราะเข้าเห็นเองแล้วว่า การแต่งกายแบบนี้ทำให้ดูสวยงามและสง่าได้ ผมมองว่าผ้าไหมนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นที่ต้องการของผู้หญิงทุกคน"ผอ.นิวัติ กล่าว

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

 

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

 

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

 

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม

 

"ผอ.วิทยาลัยอาชีวะสุรินทร์" เจ้าของไอเดียผ้าไหมยูนิฟอร์ม