posttoday

แท็กซี่ชงคมนาคมขอขึ้นค่าโดยสารกว่า10%

11 กันยายน 2557

ประธานสหกรณ์แท็กซี่กทม. ยื่น คมนาคม พิจารณาปรับค่าโดยสารขึ้นกว่า 10% คาดหวังปัญหาปฎิเสธผู้โดยสารลดลง

ประธานสหกรณ์แท็กซี่กทม. ยื่น คมนาคม พิจารณาปรับค่าโดยสารขึ้นกว่า 10% คาดหวังปัญหาปฎิเสธผู้โดยสารลดลง

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จะยื่นหนังสือการขอปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ต่อ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม โดยมีตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับมอบเอกสาร  เพื่อให้อัตราค่าโดยสารของแท็กซี่มิเตอร์สอดคล้องกับราคาต้นทุนในการขับรถ โดยการปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวนี้ จะครอบคลุมเฉพาะแท็กซี่ที่ได้มีการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ตามกฎกระทรวงที่ว่าด้วยรถแท็กซี่เสรี ที่จะต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี

ทั้งนี้ สหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้นได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ปรับขึ้นร่วมกับกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการขนส่งผู้โดยสารนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมาผู้ขับรถแท็กซี่นั้นได้ประสบปัญหาต้นทุนประกอบการที่ปรับขึ้นมาโดยตลอด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ราคาต้นทุนการขับรถแท็กซี่นั้นไม่สอดคล้องกับผลกำไรมากเท่าไร ซึ่งในปัจจุบัน ต้นทุนการขับรถแท็กซี่นั้นจะมีค่าเช่าอยู่ประมาณ600 บาท ต่อวัน ค่าเชื้อเพลิงทั้ง เอ็นจีวี และ แอลพีจี เฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 400-500 บาท และผู้ขับรถแท็กซี่นั้นจะขับรถเฉลี่ยได้เงินวันละ 1,200 บาท ในเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน

ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารนั้น จะปรับขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10% จากเดิม หรือมีอัตราค่าโดยสารจากเดิมในปี 2551นั้นเริ่มแรกที่ 35 บาทใน 1กม.แรก กม.ที่ 2-12 กม.ละ 5บาท กม.ที่12-20 กม.ละ5.50บาท กม.ที่20-40 กม.ละ 6 บาท กม.ที่40-60 กม.ละ 60.50 บาท กม.ที่60-80 กม.ละ 7.50 บาท และกม.ที่ 80 ขึ้นไป กม.ละ 8.50 บาท ปรับขึ้นเป็น1-12 กิโลเมตรแรกนั้นยังคงมีอัตราค่าโดยสารเท่าเดิม และปรับขึ้นในกม.ที่12-20 กม.ละ 6บาท กม.ที่20-30 กม.ละ 6.50 บาท กม.ที่30-40 กม.ละ 7.50 บาท กม.ที่40-60 กม.ละ8.50 บาท และกม.ที่ 60 ขึ้นไป กม.ละ 9.50 บาท และปรับอัตราค่ารถติดจากเดิมนาทีละ 1.50 บาท เป็น 2.50บาทต่อนาที

"การเสนอปรับอัตราค่าโดยสาร ดังกล่าวนี้เป็นอัตราที่กรมขนส่งทางบกนั้นเป็นผู้เห็นชอบในการปรับราคาดังกล่าว ซึ่งยังไม่รวมกับการปรับตัวขึ้นของราคาก๊าซในอนาคต จึงอยากกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคมนั้นพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารดังกล่าว"นายวิฑูรย์กล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำไรสอดคล้องกับต้นทุนในการวิ่งรถแท็กซี่ก็จริง แต่นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ต้องการที่จะลดปัญหาผู้ขับรถแท็กซี่ที่ละเมิดกฎหมายต่างๆ ทั้งการเรียกค่าโดยสารที่เกินกว่ากำหนด และการปฎิเสธผู้โดยสารด้วย ถึงแม้กว่าก่อนหน้านี้จะได้ร่วมมือกับส่วนราชการในการกำหนดข้อกฎหมายสำหรับแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารโดยปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลดปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างแท้จริง ทำให้สหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้นเล็งเห็นปัญหาที่สัมพันธ์กันเนื่องจากถ้าหากแท็กซี่ได้รับอัตราค่าโดยสารที่สอดคล้องกับอัตราต้นทุนนั้น ก็จะลดการปฎิเสธผู้โดยสารด้วย