posttoday

เวนคืนเสน่ห์เมืองกรุงปิดตำนานตลาดเฉลิมโลก-ประตูน้ำ?

24 กรกฎาคม 2557

การเปลี่ยนชุมชนเป็นศูนย์การค้า ไม่ใช่การพัฒนา แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ทำลายชีวิตผู้คน

โดย... นิติพันธุ์ สุขอรุณ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เติบโตควบคู่กับการอนุรักษ์ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมเยือนถึงถิ่นให้สมกับคำว่า “ได้มาถึงที่แล้ว” ทว่า ย่านเก่าแก่หลายแห่งกำลังทรุดโทรมตามกาลเวลา หากไม่มีการบูรณะโครงสร้างตังอาคาร รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ถูกทดแทนด้วยอาคารห้างสรรพสินค้าสะดวกสะอาดทันสมัย  ลบภาพชุมชนเดิมๆให้เหลือเพียงความทรงจำ

ย่านประตูน้ำ ทั้งฝั่งชุมชนเฉลิมลาภ และ ชุมชนเฉลิมโลก กำลังประสบปัญหาถูกเวนคืนพื้นที่อยู่ในขณะนี้ แม้จะเป็นที่รู้กันว่าถ้าใครที่กำลังคิดจะซื้อเสื้อผ้าหลากสีสัน หรือ อยากลองมาชิมข้าวมันไก่เรื่องชื่อ คำตอบคือที่จะได้คือ ประตูน้ำ นั่งเอง

สมบัติ พฤษ์ไพบูลย์ เจ้าของร้าน โกอ่างข้าวมันไก่ตอนประตูน้ำ เก่าแก่กว่า 30 ปี เปิดเผยว่า พื้นที่เช่าบริเวณชุมชนเฉลิมโลก เป็นของสำนักพุทธศาสนา จำนวนที่ดินและอาคารเนื้อที่กว่า 5 ไร่ 79 อาคาร กำลังถูกเพิกถอนสัญญาให้สิ้นสุดก่อนกำหนดในพ.ศ. 2568 หรือ 10 ปี และมีหนังสือจากทางสำนักพุทธศาสนา โดยมีลายเซ็นต์ของผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนากำกับ แจ้งว่าให้ผู้เช่ารายเดิมย้ายออกภายใน 180 วัน จากนั้นจะเปิดให้นายทุนเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่

ทั้งนี้ ปัญหาที่ผู้เช่าต้องการร้องเรียนคือ ตัวอาคารที่มีอยู่ 3 ช่วง จากหัวโค้งสะพานสี่แยกประตูน้ำ มายังแมนฮัตตั้นคอนโด มีตึกทั้งหมด 7 ชั้น ในอดีต 3 ชั้นแรกทางสำนักพุทธให้ประชาชนย่านประตูน้ำเป็นผู้อยู่อาศัยทำการค้า ส่วนชั้น 4-6 ปล่อยให้มีคนมาทำอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งผู้ที่ทำอพาร์ทเม้นท์ได้มีการต่อเติมขึ้นไปอีก 1 ชั้น ซึ่งชาวบ้านข้างล่างไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย จากนั้นมีการฟ้องร้องกันระหว่างผู้ทำอพาร์ทเม้นท์กับสำนักพุทธ จนกระทั่งสำนักพุทธชนะคดีและไล่ผู้เช่าออกหมด ซึ่งมีการอ้างว่าตัวอาคารได้มีการต่อเติมผิดไปจากสัญญา จึงต้องการเลิกสัญญาเช่าทั้งหมด กระทบต่อสัญญายาวถึงปี 2568 ด้วย

“ที่ผ่านมาสำนักพุทธศาสนา ไม่เคยเข้ามาดูแลอะไรเลย ผู้เช่าทั้งหมดขอร้องเพียงว่าขอให้เราได้อยู่จนครบตามสัญญาได้หรือไม่ แม้ว่าหนังสือสัญญาเช่าจะระบุว่าทางสำนักพุทธฯมีสิทธิ์ขอคืนพื้นที่ได้ หากต้องการใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะเช่นสร้างรถไฟใต้ดิน อย่างนี้เข้าใจได้ แต่เท่าที่รู้มาคือมีลักษณะของการขอคืนพื้นที่เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการทำเพื่อนายทุนเท่านั้น”สมบัติ กล่าว

เวนคืนเสน่ห์เมืองกรุงปิดตำนานตลาดเฉลิมโลก-ประตูน้ำ?

จงกล พลังต่อสู้ ผู้ค้าในชุมชนตลาดเฉลิมลาภ กล่าวว่า ตลาดเฉลิมลาภเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางว่ามีจุดเด่นที่มีสินค้าหลักคือ เสื้อผ้า ชุดคาบาเร่ ถือเป็นแหล่งซื้อขายสำคัญ และเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีของย่านนี้ แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ดินว่างเปล่าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีการเช่าที่ตั้งแต่สมัยพ่อแม่มานาน มีการลงทุนจนกระทั่งมีการสร้างร้านค้ากันเองให้เป็นตลาด อยู่กันมานาน  3ชั่วอายุคนแล้ว

สำหรับปัญหาของตลาดเฉลิมลาภ คือ หนังสือสัญญาจำนวนกว่า 700 ฉบับ โดยที่ผ่านมามีการต่อสัญญามาอย่างต่อเนื่อง แต่ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค.2555 มีการยกเลิกสัญญา ให้ผู้อาศัยออกจากพื้นที่ แม้ทางสำนักงานทรัพย์สินฯจะให้เงินชดเชยร้านค้าขยาดเล็กเป็นจำนวน 4-5 หมื่นบาท ค่าขนย้าย 2 หมื่นบาท และคูปองสิทธิ์ในการเข้ามาตั้งร้านภายในตัวอาคารแพลตตินั่ม ตารางเมตรละ 2 ล้านบาท และ 1 ร้านค้าต้องใช้ 10ตารางเมตร ซึ่งผู้ค้าไม่มีเงินมากพอที่จะเช่าร้านราคาแพงมากขนาดนั้นได้

ทั้งนี้ แม้ว่าทางแพลตตินั่ม จะแจ้งว่าผู้ค้าสามารถย้ายไปขายของที่ห้างอินทราสแควร์ ชั้น 2-3 ได้ แต่ใช่ว่าการย้ายไปแล้วผู้ค้าก็ขายของไม่ได้ ขณะนี้มีผู้ค้าอีก 50% ที่ยังคงต่อสู้ไม่ออกจากพื้นที่ รวมถึงกลุ่มที่ออกจากพื้นที่แล้ว แต่ไม่รู้จะไปทำมาหากินที่ไหน เพราะถูกบังคับให้เซ็นชื่อยินยอมออกจากพื้นที่โดยไม่รู้ตัว

“เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่สำนักงานทรัพย์สินฯต้องให้คำยืนยันว่า ผู้ค้าเดิมสามารถกลับเข้ามาทำมาหากินได้เช่นเดิม เราไม่ต้องการเงิน เราสู้เพื่อต้องการที่ทำกิน การพัฒนาไม่จำเป็นต้องให้นายห้างมาพัฒนา เพราะการพัฒนาต้องทำให้ใหม่ สะอาดอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่การเทกระจาดทุบสร้างใหม่ทั้งหมด 7 ไร่ ตลอดมาสำนักงานทรัพย์สินไม่เคยเข้ามาดูแลตรวจสอบพื้นที่ของตัวเองเลย ปล่อยให้เสื่อมโทรม โดยที่ผู้เช่าไปขออนุญาตซ่อมแซมทางสำนักงานทรัพย์สินฯก็ไม่อนุญาต คุณเคยบอกว่าการพัฒนาก็ไม่กระทบชีวิตคน ปากท้องของคน มีแต่พูดไปไม่ได้ทำเลย” จงกล กล่าวพร้อมน้ำตา  

ด้าน นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ชี้แจงว่า ทางสำนักพุทธศาสนาฯยังไม่ได้มีการเซ็นต์ชื่อในเอกสารใดๆทั้งสิ้นในการเพิกถอนหนังสือสัญญาของผู้เช่า โดยขณะนี้ยอมรับว่ามีผู้ประสงค์ขอเช่าพื้นที่รายใหม่ ต้องการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ซึ่งทางสำนักพุทธฯกังวลเรื่องความไม่เป็นธรรม จึงได้แจ้งต่อผู้ประสงค์เช่ารายใหม่ ไปติดต่อเจรจากับผู้เช่ารายเดิมให้เสร็จสิ้นก่อน ทางสำนักพุทธศาสนาฯจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

“ผู้เช่ารายเดิม ยืนยันว่าจะไม่ออกจากพื้นที่จนกว่าจะหมดสัญญา ทางสำนักพุทธฯก็ไม่ได้ขัดข้อง เพราะเป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้แล้ว ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิกสัญญาระยะยาวแต่อย่างใด”นพรัตน์ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ กล่าวอีกว่า การพัฒนาไม่อยากให้นำมารวมกับความเป็นย่านเก่าแก่ หรือความเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ เพราะแน่นอนว่าการพัฒนาเป็นการสร้างใหม่ย่อมลบภาพเก่าบางส่วนลงไปด้วย เนื่องจากสภาพทุกวันนี้ของชุมชนเฉลิมโลก เป็นชุมชนแออัด ทั้งยังมีห้องเช่าบางแห่งดัดแปลงที่อยู่อาศัยผิดจากสัญญา

เวนคืนเสน่ห์เมืองกรุงปิดตำนานตลาดเฉลิมโลก-ประตูน้ำ?

ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม กล่าวว่า ความพยายามในการเวนคืนที่ดินจากชุมชนต่างๆ เป็นการทำลายชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยมานาน ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการต่อสู้ต้องผลักดันให้มีการออกกฎหมายมอบสิทธิให้ชุมชนที่อาศัยยาวนานได้กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินได้ ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องทุบทำลายแล้วสร้างใหม่เป็นห้างสรรพสินค้า การจะพัฒนาจริงๆต้องทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขั้น ไม่ใช่การขับไล่ออกจากพื้นที่

“การเปลี่ยนชุมชนเป็นศูนย์การค้า ไม่ใช่การพัฒนา แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ทำลายชีวิตผู้คนที่อยู่มานาน เสน่ห์ความเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ดูจากสิ่งปลูกสร้าง แต่ต้องดูได้จากวิถีชีวิตคน ทุกวันนี้มีความจะสร้างบ้านเรือนให้มีบรรยากาศเก่าคลาสสิค ซึ่งมันคือการจำลองสถานที่ ขายวัฒนธรรมหลอกลวง” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สังคม กล่าว

เวนคืนเสน่ห์เมืองกรุงปิดตำนานตลาดเฉลิมโลก-ประตูน้ำ?

 

เวนคืนเสน่ห์เมืองกรุงปิดตำนานตลาดเฉลิมโลก-ประตูน้ำ?