posttoday

ชีวิตต้องสู้ของ"แรงงานเด็กข้ามชาติ"

01 กรกฎาคม 2557

เมื่อค่านิยมว่า "ลูกที่ดีคือลูกที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน" นำพาพวกเขาสู่โลกของการทำงานหนัก แทนที่จะเป็นห้องเรียน

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...อภิลักษณ์ พวงแก้ว ภายใต้ความอนุเคราะห์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

"ลูกที่ดีของช่วยพ่อแม่ทำงาน"ค่านิยมของแรงงานเด็กต่างด้าว  

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าค่านิยมของเด็กๆที่ติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน แตกต่างจากค่านิยมของเด็กไทยอย่างลิบลับราวฟ้ากับเหว

ค่านิยมของเด็กไทยมีอยู่ว่า "เด็กดีคือเด็กที่ตั้งใจเรียน เรียนเก่งๆให้พ่อแม่ชื่นใจ" แต่ค่านิยมของเด็กต่างด้าวคือ "เด็กดีคือเด็กที่ทำงาน ทำงานหนักๆพ่อแม่จะได้ภาคภูมิใจ"

ทัศนคติเช่นนี้ ผลักดันให้เด็กต่างด้าวหลายคนก้าวเข้าสู่วงจรการทำงานก่อนวัยอันควร สอดคล้องกับผลการติดตามและประเมินผลโครงการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในกิจการแปรรูปสินค้ากุ้งและอาหารทะเลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)  ระบุว่า มีครัวเรือนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการกุ้งและอาหารทะเลใน 4 จังหวัด คือสมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ประมาณ 7 พันครัวเรือน โดยมีทั้งคนไทยและต่างด้าวกว่า 4 หมื่นคน ในจำนวนนี้มีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 8 พันคน มีทั้งเด็กไทยและต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า

หนึ่งในนั้นคือ ยี่สิบ เด็กชายชาวพม่าที่ไม่น่าเชื่อว่าอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น ร่างเล็กแต่กำยำบึกบึนจากการแบกถาดปลาหนักร่วม 30 กิโลวันละไม่รู้กี่เที่ยว

แม่ตายจากไปหลายปีแล้วด้วยวัณโรค พ่อเป็นชาวเรือประมงออกทะเลนานครั้งละ 15 วันถึงจะกลับเข้าฝั่ง ลูกชายคนโตอย่างยี่สิบจึงต้องรับภาระดูแลบ้าน เลี้ยงน้องชายน้องสาวอีก 2 คน ควบคู่ไปกับการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวที่โรงงานดองปลาแห่งหนึ่งในพื้นที่อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

"ตื่นเช้ามาก็ต้องทำกับข้าวให้น้องๆกิน แล้วไปทำงานที่โรงงานดองปลาตอน 10 โมง คัดปลาแยกปลาใส่ถาด แบกไปแบกกลับในราคาเหมาตู้ละ 250 บาท เที่ยงงานเสร็จก็กลับมาซักผ้า เย็นๆไม่ทำอะไรก็วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ

ทุกครั้งที่เห็นเด็กไทยรุ่นราวคราวเดียวกันใส่ชุดนักเรียนเดินกันเป็นกลุ่ม แม้จะแอบอิจฉาบ้าง แต่เด็กชายชาวพม่าที่เข้าเมืองมาผิดกฎหมาย ต้องรีบสลัดความคิดฟุ้งซ่านในหัว แล้วย้ำเตือนตัวเองว่า “ทำงานเท่านั้น ถึงจะมีชีวิตที่ดีได้”

"บางทีก็น้อยใจ เห็นเขาใส่ชุดนักเรียนเดินไปโรงเรียน บางคนตัวสูงใหญ่แต่ก็ยังเรียนอยู่ เป็นเราตัวใหญ่ขนาดนั้นต้องไปทำงานหนักแล้ว จะได้เงินเยอะๆเอามาให้พ่อ"เขาบอกอย่างอารมณ์ดี

ชีวิตต้องสู้ของ"แรงงานเด็กข้ามชาติ"

ตาทุย ซอทู และ เชา หนุ่มน้อยวัยกำลังซน ทั้งหมดอายุ 12 ปี พวกเขาบอกว่าเด็กแถวบ้านทุกคนต่างทำงานกันทั้งนั้น

ทั้งสามยืนยันว่าไม่เคยได้ยิน หรือเห็นเด็กคนไหนถูกบังคับขู่เข็ญ ทุบตีให้ทำงาน โดยนายจ้างเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เชาเคยแอบขึ้นเรือออกทะเล ทำหน้าที่คัดปลา ล้างเข่ง ล้างเรือ เขาพูดไทยได้บ้างเล็กน้อย แต่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แม้แต่ภาษาพม่า

"อยากทำงานมากกว่า สนุก ได้เงินมาช่วยพ่อแม่ เอามาซื้อขนมกิน"

อาชีพยอดนิยมที่สุดเห็นจะเป็นคัดปลา และปอกเปลือกกุ้ง

ทุกๆวันเด็กอายุราว 8- 14 ปี จะตื่นตั้งแต่ตี 2ตี3 รีบออกจากบ้านเหมือนนกแตกรัง มุ่งหน้าไปแพ แย่งที่นั่งที่ดีที่สุด เพื่อจะได้ปลาเยอะๆ ประมาณตี 5 ทันทีที่เรือเข้า หน้าที่ของพวกเด็กน้อยเหล่านี้คือคัดแยกปลาหลากหลายชนิด ทั้งปลาทูแขก ปลาทูลัง ปลาหมึก ฯลฯลงกระบะ ลำแล้วลำเล่าจนกว่าจะหมดถึงแยกย้าย

"เขาให้ชั่วโมงละ 30 บาท แต่คนเรืออาจจะแอบขโมยปลามาให้คนละโลสองโลเอากลับไปทำกับข้าว แต่ส่วนใหญ่มักเอาไปขายต่อมากกว่า รวมแล้วได้เงิน 200-300 ก็เอาไปให้พ่อแม่ ไม่ก็ซื้อขนม"ตาทุยบอก

ส่วนซอทูเล่าบ้างว่าเคยเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่สุดท้ายพ่อแม่ให้ออกมา เพราะไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนเดือนละ 250 บาท ไม่นับค่ามอเตอร์ไซค์ไปรับส่งวันละ 40 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายแต่ละครัวเรือนเฉลี่ย 5 พันบาท ทั้งค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากับข้าว พ่อแม่หลายคนจึงไม่สนับสนุนให้ลูกเรียน 

ชีวิตต้องสู้ของ"แรงงานเด็กข้ามชาติ"

ซาน ติน ที เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย นครศรีธรรมราช บอกว่าเด็กทุกคนสมัครใจไปทำงานเอง ไม่มีใครบังคับ

"วงจรนี้เริ่มจากการที่เด็กๆติดตามพ่อแม่ไปที่ทำงาน วัยกำลังซนก็เลยหยิบฉวยช่วยพ่อแม่ พ่อแม่จึงเห็นว่าช่วยได้ ขณะที่นายจ้างปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก เด็กมันหยิบจับนู่นนี่นั่นเล่นไปตามประสา เขาไม่สนใจ คิดว่าไม่ได้จ้าง เด็กมันตามพ่อแม่มาเอง แต่เราเห็นว่าทั้งสถานที่ก็ไม่ควรไปแล้ว เพราะ เสี่ยงอันตรายมาก

เด็กๆจะเรียนรู้ได้เองโดยอัตโนมัติว่าพออายุถึงเมื่อไหร่ ก็ต้องทำงาน งานเบาๆเล็กๆน้อยๆอย่างคัดปลา ปอกกุ้ง เด็กที่โตหน่อยประมาณ 12-15 ก็ไปทำโรงงานดองปลา ส่วนหนุ่มๆอายุ 16-21 หลายคน นิยมออกเรือประมง ไม่ต้องห่วงค่าใช่จ่าย เนื่องจากอยู่บนเรือ บ้านต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ"

ทั้งที่ในความเป็นจริง กฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ที่ทำงานแม้เป็นงานปลอดภัยหรือชั่วโมงการทำงานน้อยเท่าใดก็ตาม  ถือเป็นแรงงานเด็กทั้งสิ้น ขณะที่อายุไม่ถึง 18 ปี ห้ามทำงานบนเรือประมงโดยเด็ดขาด

เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ปัญหาที่ต้องแก้ไข

ปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีเด็กต่างด้าวจำนวนไม่น้อยหลุดรอดออกมาสู่วังวนของปัญหาการค้ามนุษย์

แม้ประเทศไทยจะมีข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการศึกษา สกัดกั้นเด็กซึ่งมีอายุไม่ถึง 18 ปี ให้อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับถึง 9 ปี แต่ก็ยังมีแรงงานเด็กที่ลักลอบทำงาน โดยเฉพาะเด็กต่างชาติจากพม่า ลาว และกัมพูชา

"เด็กต่างด้าว"เหล่านี้ หลายคนติดตามพ่อแม่เข้ามาเมืองไทย แต่ไม่ยอมเข้าเรียนในโรงเรียน เนื่องจากไม่มีเอกสาร บ้างกลัวถูกตำรวจจับ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยที่พ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เรียน แม้กระทั่งโรงเรียนกีดกันไม่อยากรับ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เช่น อุปสรรคเรื่องการสื่อสาร หลักสูตรไม่เอื้ออำนวย ทัศนคติที่ไม่ดีต่อแรงงานต่างด้าว

"บางครอบครัวไม่คิดปักหลักที่เมืองไทยไปจนตาย พวกเขาเข้ามาเพื่อหาเงินเท่านั้น และคิดจะกลับบ้านเกิดที่พม่า ก็ต่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดกันให้เสียเวลา พ่อแม่บางคนบอกลูกว่าไว้มีเงินค่อยกลับไปเรียน"

เป็นคำกล่าวของ แสงตะวัน งามกาหลง ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย นครศรีธรรมราช

เธอบอกว่าทางมูลนิธิรักษ์ไทยได้เปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช หวังดึงเด็กเข้ามาศึกษาเล่าเรียน โดยมีครูสอนทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า 

"โอกาสเสี่ยงที่เด็กๆเหล่านี้จะเข้าสู่ภาคแรงงานก่อนวัยอันควรมีสูง คิดว่าต้องเริ่มทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา แต่การเรียนในระบบอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ดังนั้นอาจพึ่งการศึกษานอกระบบอย่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของมูลนิธิรักษ์ไทย อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช หรือการศึกษานอกโรงเรียน หรือกศน. แล้วค่อยไปสอบเข้าในระดับที่สูงกว่านั้นได้" 

ชีวิตต้องสู้ของ"แรงงานเด็กข้ามชาติ"

แสงตะวันเสนอแนะถึงขั้นตอนการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของแรงงานเด็กต่างด้าว 4 ข้อ ดังนี้

1.จัดระเบียบระบบการศึกษาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบอย่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สอนให้เขารู้ว่าการศึกษามีความสำคัญ เพื่อให้รู้เท่าทัน หลายครั้งที่แรงงานตกเป็นเหยื่อรู้ เพราะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง จึงเซ็นชื่อ โดนโกง โดนหลอก

2.ระบบนายหน้า ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ฝังรากหยั่งลึก ไม่ว่านายหน้าชาวพม่าด้วยกันเอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่เข้าไปมีส่วน ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด

3.สอนให้รู้เรื่องกฎหมายและเข้าถึงการช่วยเหลือต่างๆ เช่น องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา

4.เพื่อนต้องช่วยเพื่อน แรงงานต่างชาติต้องเกาะกลุ่มกัน พึ่งพาอาศัยกัน

การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น

แม้จะผ่านงานมาสารพัดตั้งแต่ 8 ขวบ ทั้งล้างคอกหมู กรีดยาง เป็นลูกจ้างสวนปาล์ม คัดปลา ดองปลา แต่ แบงค์ หนุ่มชาวพม่าวัย 21 ยืนยันว่าเสียดายเหลือเกินที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ

"เพิ่งมารู้ตอนโตว่าการไม่เรียนหนังสือ ไม่มีการศึกษา โอกาสก้าวหน้าในชีวิตน้อยมาก เช่น ถ้าจะเป็นหัวหน้าคนก็ต้องเขียนหนังสือได้ ต้องเซ็นชื่อ อยู่เมืองไทยจะอ่านพม่าไม่ออกก็ต้องอ่านภาษาไทยให้ออก"

ชีวิตเขาจึงไม่อาจหนีออกไปจากวงจรการทำงานในอุตสาหกรรมประมงได้ เช่นเดียวกับพี่น้องร่วมชาติอีกหลายคน

ในฐานะคุณแม่ลูกสอง ซาน ติน ที บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเธอเองทั้งขู่ทั้งปลอบให้ลูกๆเรียน แต่ท้ายที่สุดลูกคนโตตัดสินใจออกมาทำงานซ่อมปะชุนเรือ ยังเหลือลูกคนเล็กยังเรียนภาษาไทยและภาษาพม่าไปด้วย

"เด็กต่างด้าวสมัยก่อนบัตรอะไรก็ไม่มี พาสปอร์ตก็ไม่มี ต้องหลบๆซ่อนๆ เรื่องเรียนหนังสือนี่หมดหวัง แทบเป็นไปไม่ได้

ผลคือโดนโกง โดนรังแกสารพัด เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

"เห็นเด็กสมัยนี้แล้วใจไม่ดี ตาไม่มีแวว มองไม่เห็นอะไรเลย ฉันย้ำสอนลูกๆหลานๆตลอดว่าต้องเรียนหนังสือนะ ถ้าไม่เรียนหนังสือ ตาจะมองไม่เห็น ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต

เราเคยลำบากมาก่อน เคยเห็นมาแล้ว ไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้เลย ถ้าไม่เรียนหนังสือ คงหนีไม่พ้นปอกกุ้ง คัดปลา ดองปลา เป็นลูกเรือประมง ไม่ก็เป็นลูกจ้างตามร้านอาหาร ตามสวนไปตลอดชีวิต"

นี่คือหลากหลายชีวิตของแรงงานเด็กต่างด้าว พวกเขาต่างก็มีความฝันเช่นเดียวกับเด็กไทย ทว่าการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ส่งผลให้ชีวิตที่ดี อนาคตอันสดสวยต้องแลกมาด้วยการทำงานหนัก แทนที่จะอยู่ในห้องเรียน

ชีวิตต้องสู้ของ"แรงงานเด็กข้ามชาติ"