posttoday

ทส.ลุยแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์บุรีรัมย์

11 มิถุนายน 2557

บุรีรัมย์-อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่บุรีรัมย์แก้ปัญหา 11หมู่บ้านคัดแยกขยะอันตรายขาย หลังตรวจพบสารตะกั่วในเลือดชาวบ้านในพื้นที่

บุรีรัมย์-อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่บุรีรัมย์แก้ปัญหา 11หมู่บ้านคัดแยกขยะอันตรายขาย หลังตรวจพบสารตะกั่วในเลือดชาวบ้านในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.นายวิเชียร  จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ลงพื้นที่ต.แดงใหญ่  อ.บ้านใหญ่ไชยพจน์  และ ต.บ้านเป้า  อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เพื่อติดตามปัญหาเศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล กว่า 500 ครัวเรือน ได้ทำเป็นอาชีพทั้งเปิดร้านรับซื้อของเก่าในหมู่บ้านรวมถึงตระเวนรับซื้อตามบ้านและรับเหมามาจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆนำมาคัดแยกชิ้นส่วนก่อนนำไปขายหารายเสริมหลังทำนาโดยไม่มีการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีทำให้เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจากสารตะกั่วที่มาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวทั้งโรคมะเร็ง ระบบทางเดินหายใจ  ภูมิแพ้  หอบหืด และโรคอันตรายร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลรายงานของทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่าจากการสุ่มเจาะเลือดของชาวบ้านที่ทำอาชีพคัดแยกขยะมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดเกือบทุกราย บางรายมีเกินกว่าค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเด็กอายุ 1 – 5 ปี

ทั้งยังพบปัญหาการลักลอบนำขยะเศษซากขยะที่ไม่สามารถขายได้ เช่น กระจกจอทีวี โฟม ซึ่งย่อยสลายยากไปทิ้งตามป่าชุมชนใกล้หมู่บ้านที่ตกค้างไม่สามารถจำกัดได้นับร้อยตัน อีกทั้งยังมีการเผาสายไฟเพื่อเอาลวดทองแดงไปขายก่อให้เกิดมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ จนชาวบ้านไม่กล้าดื่มน้ำฝนหรือจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต้องซื้อน้ำกินเพราะเกรงจะมีสารเคมีตกค้างซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดสะสมมานานกว่า 10 ปี  จากนั้นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษพร้อมคณะฯยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่มีการเผา หรือลักลอบนำขยะไปทิ้งพร้อมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดค่ามาตรฐานดินในจุดที่มีการทิ้งและเผาขยะด้วย ซึ่งผลการตรวจพบว่ามีสารตะกั่วมากถึง 8,600 มิลลิกรัม/กิโลกรัมสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 20 เท่า  และตรวจพบสารหนู(อาเซนิก)191 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  สูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 50 เท่า

นายวิเชียร กล่าวว่า ขณะนี้พบชาวบ้านที่ทำอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขายและเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวแล้ว 2 จังหวัด คือ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอีกหลายจังหวัด จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้พบว่าชาวบ้านส่วนมากยังขาดความรู้ในการป้องกันตนเองและขาดจิตสำนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมเชื่อว่าหากปล่อยไว้ไม่ดำเนินการแก้ผลกระทบจะแพร่กระจายเป็นวงกว้างออกไปอีกอย่างแน่นอน  ดังนั้นเบื้องต้นจะได้นำสภาพปัญหาที่ตรวจพบไปหารือร่วมกันหลายหน่วยงาน  เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน เบื้องต้นก็จะให้ทางสาธารณสุขเข้ามาแนะนำดูแลเรื่องการป้องกันตนเองส่วนแผนระยะยาวก็อาจจะมีการห้ามนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยสลายยาก หรือบวกค่ากำจัดไปในภาษีสินชนิดประเภทดังกล่าวด้วย หรือออกเป็นพ.ร.บ.วัตถุอันตรายเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป

ขณะที่นายสุเทพ  แหล่งไธสง  ชาวบ้าน บ.โนนเห็ดไค  ต.แดงใหญ่ กล่าวว่า ถึงแม้จะทราบดีว่าการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ยังยืนยันจะทำอาชีพนี้ต่อไป เพราะทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว อีกทั้งรายได้จากการรับซื้อของเก่ามาคัดแยกขายก็สามารถเลี้ยงครอบครัว และส่งเสียลูกเรียนได้ ซึ่งหลังจากที่ทางอบต.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาแนะนำวิธีป้องกัน ด้วยการสวมใส่หน้ากากปิดปาก จมูก หรือสวมถุงมือ  หลีกเลี่ยงไม่ให้สารต่างๆเข้าสู่ร่างกายตนและครอบครัวก็ปฏิบัติตาม แต่ไม่รู้ว่าจะป้องกันได้มากน้อยเพียงใด