posttoday

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง"

28 พฤษภาคม 2557

เมื่อขุนเขาอันเป็นร่มเงาให้กับชีวิตคนวังสะพุง ถูกรุกคืบด้วยกลุ่มทุนเหมืองแร่ สุขอนามัยของชุมชนก็อยู่ในภาวะถดถอย

โดย...เจษฎา จี้สละ

ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าคือจุดกำเนิดของสรรพชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นหน่วยย่อยของระบบนิเวศน์ หากสูญเสียความสมดุลระหว่างธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตไป เป็นเรื่องยากที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะอยู่รอด สถานการณ์ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย สะท้อนภาพความสัมพันธ์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

เมื่อขุนเขาอันเป็นร่มเงาให้กับชีวิตคนวังสะพุง ถูกรุกคืบด้วยกลุ่มทุนเหมืองแร่ แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ บนภูทับฟ้า และภูซำป่าบอน สายน้ำที่เคยเป็นฉ่ำเย็นหล่อเลี้ยงชีวิต กลายเป็นสายน้ำปนเปื้อนมลพิษ ข้าวในนา ปลาในห้วย ที่เคยประทังยังชีพ มาบัดนี้ไม่มีใครกล้าบริโภค สุขอนามัยของชุมชนถดถอย นี่เป็นเพียงปฐมบทของชะตากรรมคนวังสะพุง

ก่อน "เหมือง" อยู่ "ภูหลวง"

ภูหลวงเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งใน จ.เลย ประกอบไปด้วยขุนเขาใหญ่น้อยทั่วบริเวณ จากสายตาของผู้อาศัยนานกว่า 12 ปี อย่าง “พ่อไม้” หรือ สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ อายุ 41 ปี สมาชิกชุมชนบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เล่าถึงความเขียวขจีของผืนป่าและสรรพชีวิตที่เกื้อกูลกันอย่างสมดุลในอดีต “เมื่อก่อนภูหลวงสมบูรณ์มาก ภูซำป่าบอนที่เราอยู่ตรงนี้มีต้นไผ่เต็มไปหมด

“ชาวบ้านมักขึ้นมาเก็บหน่อไม้ หาเห็ด แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ต้นไม้ไม่ขึ้น เราก็เสียที่หากินของเราไป เหมืองบอกว่าเขาฟื้นฟูแล้ว เอาดินมาถ่มตรงเนิน เอาต้นกล้วย ต้นไม้มาปลูก มันไม่โต แคระแกรน ตายไปแล้วก็มี”

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" ภูซำป่าบอน

 

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" ต้นไม้แคระแกรน

ไม่ต่างจากความทรงจำของคนท้องถิ่น ผู้เกิดมาพร้อมผืนป่าที่ปกคลุมภู “แม่รส” หรือ ระนอง กรองแสง อายุ 53 ปี ย้อนความหลังเมื่อครั้งอิทธิพลนายทุนรุกคืบ ปี 2535 เริ่มมีนายหน้าขอซื้อที่จากชาวบ้าน บอกว่าจะนำพื้นที่นี้ไปทำกสิกรรม เสนอราคาแปลงละ 2,000 บาท แต่แล้วปี 2549 เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อเครื่องจักรและโรงงานเข้ามายังภูสูง เสียงระเบิดไดนาไมท์แผดก้องแทนเสียงหมาป่า ฝุ่นควันและกลิ่นกำมะถันคละคลุ้งปกคลุมพื้นที่

“ชาวบ้านไม่รู้ว่าเขามาทำเหมือง ทีแรกบอกซื้อที่ไปทำกสิกรรม รู้ตัวอีกทีตอนเขาตั้งโรงงานแล้ว เขาเสนอจะสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และตลาดชุมชนให้ แต่ผลสุดท้ายสิ่งที่ได้คือสารพิษ นึกแล้วเจ็บใจ เพราะเขาอ้างว่า เราขายที่ดินให้เขา แล้วมาประท้วงที่หลังทำไม”

น้ำตาคนตีนภู "น้ำก็ซื้อมา ข้าวในนาบ่กล้ากิน"

ไม่ไกลจากภูซำป่าบอน หลุมโหว่กลางหุบเขาแผ่กว้างบนพื้นที่ภูทับฟ้ากว่า 5 แปลง เนื้อที่ 1,080 ไร่ 56 ประกอบด้วย กองมูลดินสินแร่ บ่อบำบัดน้ำ อ่างเก็บน้ำดิบ โรงแต่งแร่ และบ่อกักเก็บกากแร่ที่อยู่บริเวณต้นน้ำชั้น 1A ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญใกล้กับลำน้ำห้วยเหล็ก เชื่อมต่อกับลำน้ำห้วย ไหลสู่ลำนำเลยและน้ำโขงต่อไป

นับตั้งแต่เครื่องยนต์อุตสาหกรรมเหมืองเริ่มทำงาน สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมส่อความเลวร้าย เมื่อสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 9 จ.อุดธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบสารพิษในสิ่งแวดล้อม พบ ไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานและปนเปื้อนในลำน้ำฮวย (เชื่อมต่อกับลำน้ำห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บแร่)

ยิ่งไปกว่านั้น เดือน ม.ค. ปี 2551 โรงพยาบาลวังสะพุง สุ่มตรวจไซยาไนด์ในเลือดประชาชน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง ได้แก่ บ้านห้วยผุก บ้านกกสะทอน บ้านนาหนองบง บ้านโนนผาพุงพัฒนา บ้านแก่งหิน และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา พบ ไซยาไนด์ในร่างกายเกิดค่ามาตรฐาน 20 คน

ส่งผลให้กรมควบคุมมลพิษเร่งเข้าตรวจสอบชุมชนที่ประสบเหตุ พบสารหนูในห้วยเหล็ก แมงกานิสในห้วยผุก แคดเมียมในระบบประปาบาดาล บ้านนาหนองบง จนมีการประกาศโดย สสจ.เลย ในปี 2552 ห้ามบริโภคน้ำจากห้วยผุก ห้วยเหล็ก ประปาบาดาล บ.นาหนองบง ดื่มกินหรือนำมาประกอบอาหาร

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" บ่อเก็บกากแร่ที่แห้งแล้ว เดืมเต็มไปด้วยน้ำสีดำ ซึ่งมีส่วนผสมของไซยาไนด์

 

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" ลำห้วยเหล็ก

 

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" นารกร้างของตาเลียง

เลียง พรหมโสภา หรือ “ตาเลียง” อายุ 61 ปี เจ้าของผืนนาติดกับตีนภูเหล็ก รับน้ำจากห้วยเหล็กเป็นนาแรก กล่าวว่า เดิมสามารถผลิตข้าวได้ปีละกว่า 40-50 กระสอบ ในที่นา 12 ไร่ แต่หลังจากน้ำมีสารพิษปนเปื้อน กลายเป็นสีแดง-ส้ม ผลิตลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะฤดูกาลที่ผ่านมาได้ผลผลิตเพียง 9 กระสอบ ไม่นับรวมกับผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผืนขัน แสบผิวหนัง และระคายเคืองตา

“แต่ก่อนน้ำดี ข้าวงาม ตอนนี้น้ำมันคัน เป็นผื่นแสบแข่งแสบขา ตาบ่ทำแล้ว ปลาก็กินบ่ได้ มันมีแต่หัว เอามาปิ้งแล้วตัวมันแข็ง ตอนนี้ของกินต้องซื้อของเขาหมด เฮาบ่กล้ากิน”

เช่นเดียวกับแม่จันที หรือ จันที ศรีสุลักษณ์ อายุ 68 ปี ยังสะท้อนเหตุผลที่ทนกล่ำกลืนกับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้เป็นอย่างดี

“เฮาอยากฮักษาไว้ให้ลูกให้หลาน ยายบ่กลัวแล้ว จะตายก็ช่างมันแก่แล้ว ห่วงแต่ลูกหลาย”

ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย/ร่ายกายเสื่อมถอย/โรคร้ายคุกคาม

ความสัมพันธ์ของชีวิตและธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาด เมื่อระบบนิเวศน์เสื่อมถอย มลพิษคุมคามสุขภาวะของผู้คน เดือน มิ.ย. ปี 2553 สำนักงานสาธารณสุข จ.เลย (สสจ.เลย) เก็บตัวอย่างเลือดของประชาชน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง พบโลหะ 3 ชนิดในกลุ่มตัวอย่าง ทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐานในเลือด ซึ่งบางคนพบทั้ง 3 สาร และตรวจพบสารบางชนิดในเด็กอีกด้วย

เช่นเดียวกับ สุวัฒน์ จุตตะโม หรือ “พ่อสุวัฒน์” ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษไซยาไน ระบุว่า มีผืนนาอยู่ติดกับลำน้ำห้วยเหล็ก ระยะแรกมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังพอเดินได้ กอปรกับอาการหูอื้อและตามัว จนปัจจุบันต้องอาศัยรถเข็นในการเคลื่อนที่ เพราะอาการทวีความรุนแรงจนเป็นอัมภาต ทั้งนี้พ่อสุวัฒน์เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่มีสารไซยาไนด์ในเลือดเกินมาตรฐาน

“ไม่มีใครมาดูแลเฮาหรอก เสียค่ายาเดือน 4,000-5,000 จ่ายคนเดียว จนปัญญาบ่มีตังส์ซื้อข้าว” พ่อสุวัฒน์ เล่าผลกระทบของตัวเอง

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" พ่อสุวัฒน์

 

สิ่งแวดล้อมที่เสียไปกับลมหายใจ"วังสะพุง" ยายแพง

ด้าน “ยายแพง” หรือ ปัน แก่งจำปา อายุ 80 ปี ปัจจุบันต้องอาศัยรถลากในการเคลื่อนที่เจ็บป่วยจากอาการผื่นคัน เจ็บเมื่อยตามเนื้อตัว กระทั่งเกิดโรคอื่นๆ ตามมา โดยไม่มีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายมีต้นตอมาจากไหน ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าเกิดจากสารปนเปื้อนของเหมือง จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆ จากบริษัทผู้ทำเหมืองได้

สุขภาวะรอไม่ได้ต้องเร่งฟื้นฟู

สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฉายภาพว่า สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อพบผู้ป่วยบางคนมีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายกันจำนวนมากในบ้านฟากห้วย เพราะอยู่ติดกับห้วยเหล็ก สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ โดยเฉพาะสารอันตรายลอย่างไซยาไนด์

ทั้งนี้ สารพิษดังกล่าวสามารถออกฤทธิ์อย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง สำหรับกรณีนี้มุ่งไปที่อาการเรื้อรัง แม้ปกติร่างกายจะขับไซยาไนด์ออกเองได้ แต่การที่ไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อระบบภายใน เช่น ระบบประสาท ส่งผลให้ผู้รับสารมีอาการตามัว เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง เริ่มเดินไม่ได้ฯลฯ ส่วนการตรวจพบตกค้างในร่างกายผู้ป่วย แสดงว่าร่างกายอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะไม่สามารถขับสารพิษออกเองได้

สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ไม่สามารถผลักภาระไปที่หน่วยงานใดได้ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาต้องเกิดจากนโยบายของภาครัฐ สสจ.เลย กรมควบคุมมลพิษ โรงพยาบาลวังสะพุง หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหาใดๆ ควรเป็นหน้าที่ของการวางนโยบายระดับกระทรวง เวลานี้พบชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว รัฐไม่ควรชักช้าในการแก้ไข เพราะสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

“รัฐไม่ควรรีรอขอสรุปว่าปัญหามาจากไหน ใครควรรับผิดชอบ ปัญหาเกิดแล้ว ควรเร่งแก้ไข” สมพร ระบุ

ข้อเสนอนักวิชาการรายนี้ คือ 1.ปิดเหมือง โดยไม่ต้องรอว่าสาเหตุการเจ็บป่วยมีต้นเหตุมาจากเหมืองจริงหรือไม่ เพราะผู้ที่อยู่ใกล้พื้นที่กักเก็บกากแร่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว 2.เร่งบำบัดฟื้นฟูระบบนิเวศน์ เพราะเป็นแหล่งน้ำและอาหารของชุมชน 3.กรมควบคุมมลพิษและ กพร.ต้องเป็นหัวหอกสำคัญในผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา เพราะรับผิดชอบโดยตรง ส่วนประเด็นทางด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งส่งผู้เชี่ยวชาญหาสาเหตุ จัดการกำแหล่งกำเนิด รักษาเยียวยาผู้ป่วยและให้คำแนะนำอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงประกาศห้าม แต่ไม่แนะวิธีรับมือ

แม้เสียงจักรกลเหมืองแร่จะยุติลงเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2556 โดยคำสั่งของ ส.ป.ก. เลย กอปรกับแรงต้านของชาวบ้านใน อ.วังสะพุง แต่คราบสารพิษที่เปรอะเปื้อนสายน้ำยังไม่จางหาย สุขภาพร่างกายของชาวบ้านยังถดถอยลง ความหวังที่จะพลิกฟื้นคืนผืนป่าให้กลับมาสมบูรณ์เช่นอดีตจึงยังคงมีอยู่ เพื่อวันข้างหน้าจะได้มีน้ำเข้านา หาปลายังชีพ บนภูมีหน่อไม้และผักป่าให้เก็บกินตลอดปีตามวิถีคนบนภู