posttoday

"บางกระเจ้า"...สถานการณ์วันนี้ไม่น่าไว้วางใจ

12 พฤษภาคม 2557

เกาะบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่วันนี้กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม จากกฎหมายผังเมืองใหม่

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เกาะบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ผืนสุดท้ายซึ่งเปรียบดั่งปอดของคนกรุง วันนี้กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม จากกฎหมายผังเมืองใหม่อันพิลึกพิลั่น

ปอดของคนเมืองใหญ่

เป็นที่รู้กันในหมู่คนรักสิ่งแวดล้อมและนักปั่นจักรยานว่าพื้นที่บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เปรียบเสมือนสวรรค์บนดิน

เมื่อมองบนแผนที่ บางกระเจ้าไม่ต่างอะไรกับดงไม้สีเขียวขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายกระเพาะหมู ตั้งโดดเด่นอยู่ท่ามกลางความแออัดของเมืองใหญ่ทันสมัย มีสายน้ำเจ้าพระยาอันคดโค้งล้อมรอบจนเกือบจะดูเหมือนเกาะ พื้นที่ 11,819 ไร่นี้ถูกยกให้เป็นพื้นที่สีเขียวผลิตอากาศบริสุทธิ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถึงขนาดได้รับยกย่องให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia จากนิตยสารไทม์ในปี พ.ศ. 2549

ความที่เป็นเมืองชนบทเล็กๆอันเงียบสงบ มีถนนปูนสายเล็กๆคดเคี้ยวทอดยาวสองข้างทางร่มรื้นครึ้มเขียวไปด้วยเรือกสวน ลำคลองใสแจ๋ว ต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเป็นทิวแถวอุดมสมบูรณ์ ยังดึงดูดให้นักปั่นจักรยานจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาเยือนในทุกสุดสัปดาห์

"แม้บางกระเจ้าจะอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ แต่ตำแหน่งที่ตั้งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งชาวกรุงเทพและสมุทรปราการ โดยเฉพาะย่านกลางเมืองกรุงที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เนื่องจากทิศทางลมจะพัดพาเอาอากาศบริสุทธิ์ผ่านเข้ามาถึง 9 เดือนต่อปี นอกจากนี้ที่นี่ยังถือเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนปั่นจักรยาน เราจะเห็นได้ว่าคนที่มาเที่ยวส่วนใหญ่คือนักปั่น และผู้ที่อยากมาพักผ่อนหย่อนใจกับธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์"เป็นมุมมองของ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิสีเขีียว

กฏหมายผังเมืองใหม่(ฉบับลับสุดยอด)

ข่าวล่ามาแรงที่สร้างความวิตกกังวลแก่ทุกฝ่ายในขณะนี้คือ กฏหมายผังเมืองฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา

ปัญหาอยู่ตรงการแก้ไขกฏหมายฉบับนี้เป็นไปโดยที่ชาวบ้านบางกระเจ้าทั้ง 6 ตำบลไม่รู้เรื่องใดๆเลย ทั้งที่ควรผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง ว่าด้วยการทำประชาพิจารณ์

"ขอยืนยันว่าไม่มีการทำประชาพิจารณ์อะไรทั้งสิ้น มีแต่ส่งหนังสือมาทางอบต.ทั้ง 6 ตำบล (ประกอบด้วยต.บางน้ำผึ้ง ต.บางยอ ต.บางกอบัว ต.บางกะสอบ ต.บางกะเจ้า และต.ทรงคะนอง) ให้ชวนคนมาฟัง แต่ก็รู้ข่าวกันแค่ไม่กี่คน ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่่ไม่รู้เรื่องอีกตั้งเท่าไหร่" 

ถ้อยคำบ่นของคนในพื้นที่ มนัส รัศมิทัต สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เขาเปิดเผยว่าได้ข่าวการเปลี่ยนผังเมืองมาตั้งแต่ปลายปี 2556 แต่พอสอบถามไปยังโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการก็พบว่าระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 90 วันได้ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อย้อนถามอบต.ก็ได้รับคำตอบว่ามีการปิดประกาศแล้ว แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวจากคนในพื้นที่ เรื่องทั้งหมดจึงเกิดขึ้นและจบลงไปอย่างเงียบเชียบ

พื้นที่บางกระเจ้าแบ่งออกเป็น 2 โซนหลักคือ โซนสีเขียวหมายถึงพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และโซนสีเขียวตัดขาวหมายถึงพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งจากการตรวจสอบผังเมืองบางกระเจ้า 3 ฉบับ ได้แก่ปี 2544 ,2548 และฉบับล่าสุดปี 2556 นี้ของกลุ่มบิ๊กทรี พบว่าค่อยๆมีการไต่ระดับการพัฒนาอาคารสิ่งปลูกสร้างทีละนิด ละนิด

โดยในปี 2554 โซนสีขาวตัดเขียวไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ต่อมาปี 2548 ปรับเปลี่ยนให้มีการสร้างบ้านเดี่ยวขนาดไม่เกิน 200 ตารางเมตรได้ แต่ต้องไม่กินพื้นที่เกิน 5 % ในแต่ละบริเวณที่กำหนดไว้ในผังเมือง ส่วนฉบับปี 2556 มีการขยายกรอบกติกาให้สร้างได้ไม่เกิน 15 % ในแต่ละบริเวณ ขณะเดียวกันโซนสีเขียว เดิมในปี 2548 อนุญาตให้ก่อสร้างได้ 10 % ในแต่ละบริเวณ แต่ไม่ให้นำที่ดินไปจัดสรร ต่อมาปี 2556 ปรับใหม่ให้สามารถนำไปจัดสรรบ้านเดี่ยวได้

อรยา สูตะบุตร ตัวแทนกลุ่มบิ๊กทรี ให้ความเห็นโดยยกตัวอย่างพื้นที่แถบรามอินทรา หรือพุทธมณฑลสาย 2 ในสมัยก่อนที่เคยเป็นพื้นที่อนุรักษ์ บัดนี้ต้นไม้เขียวๆและบรรยากาศชนบทที่เคยมีถูกแทนที่ด้วยบ้านจัดสรรเป็นที่เรียบร้อย

ด้านมนัสแสดงความห่วงใยว่ากฏหมายผังเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปทุก 5 ปี อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชุมชน 

"สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคือการแก้ไขกฏกติกาผังเมืองใหม่จะทำให้ชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกันเองเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่" 

"บางกระเจ้า"...สถานการณ์วันนี้ไม่น่าไว้วางใจ

ราคาที่ดินพุ่ง ป้ายประกาศขายพรึ่บ

จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของผู้สื่ิอข่าวพบว่า หลายพื้นที่ใน 6 ตำบลของบางกระเจ้าเริ่มมีป้ายประกาศขายที่ดินผุดขึ้นตามข้างทาง บางแห่งมีการถมที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันเห็นได้ว่ามีคนนอกพื้นที่ขับรถหรูเข้ามาติดต่อถามราคาที่ดินกันเป็นจำนวนไม่น้อย

"ช่วงนี้มีการซื้อขายที่ดินกันเยอะมาก ราคาที่ดินในบางกระเจ้าขึ้นไปอยู่ที่ตารางวาละ 3.5 หมื่นบาทแล้ว พวกคนมีฐานะนิยมซื้อไว้เก็งกำไร บ้างก็มาซื้อไว้ปลูกบ้าน เขาให้เหตุผลว่าที่นี่อากาศดี แถมใกล้กรุงเทพ นอกจากนี้ยังมีอีก 5 โครงการใหญ่ที่เพิ่งมาทุ่มเงินซื้อที่ดินไปหลายร้อยไร่"ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม นโยบายการพัฒนาใหม่ๆขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ โดยเฉพาะโครงการกระเช้าลอยฟ้าบางกระเจ้า-คลองเตยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แม้ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในอนาคตข้างหน้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสามารถดึงดูดให้เหล่านายทุนหันมามองอย่างมีนัยสำคัญ

เรารักบางกระเจ้า

ณภิญญา รัศมิทัต ไกด์ท้องถิ่น เผยว่าปัจจุบันกลุ่มคนที่ชอบเดินทางมาในพื้นที่บางกระเจ้าคือ นักปั่นจักรยาน และนักท่องเที่ยวที่มาช็อปปิ้งในตลาดนัดบางน้ำผึ้ง

"โดยส่วนตัวไม่เชื่อค่ะว่าคนกรุงเทพไม่รู้จักบางกระเจ้า เท่าที่พูดคุยสอบถามพบว่าทุกคนอยากมาปั่นจักรยาน เส้นทางจักรยานที่นี่สวยไม่แพ้ที่ไหน เรายังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย บ้านธูปหอม ตลาดนัดบางน้ำผึ้งที่มีทั้งอาหารการกินอร่อย มีผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้เลือกซื้อ"

เธอบอกว่าชาวบ้านบางกระเจ้าส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ เมื่อผลผลิตออกดอกออกผลก็นำมาขายในตลาดชุมชน ชีวิตมีความสุขแบบพอเพียง

"คนบางกระเจ้าไม่ได้ต่อต้านคนนอกเลย ชาวบ้านทุกคนที่นี่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว เพียงแต่เราต้องการแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อรักษาวิถีชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อมอันมีค่าของเรา และที่สำคัญทุกครั้งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น ชาวบ้านมีสิทธิ์รับรู้ เข้าไปมีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็น"

ชาวบ้านรายหนึ่ง ปิดท้ายสั้นๆว่าอยากให้คนในชุมชนตื่นตัวกันมากกว่านี้  

"ฉันสอนลูกหลานของฉันว่าที่ดินของบรรพบุรุษไม่ได้มีไว้ขาย"

เรื่องนี้ถึงศาลปกครองแน่

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และนักกฎหมาย แนะนำว่าเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว เรียกร้องต่อไปคงไม่มีประโยชน์ ต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเท่านั้น

"ไม่เฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ทุกคนไม่ว่านักปั่นจักรยาน นักท่องเที่ยวที่มีใจรักและเป็นห่วงบางกระเจ้า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องด้วยการยื่นฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานคณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เพิกถอนกฏกระทรวงฉบับดังกล่าว ฐานขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง ว่าด้วยการทำประชาพิจารณ์"

ณ วันนี้ ท่ามกลางสถานการณ์น่าเป็นห่วง ไม่ใช่แค่คนบางกระเจ้าเท่านั้นที่ควรตื่นตัว แต่คนกรุงเทพมหานครอีกหลายล้านคนก็ต้องลุกออกมาปกป้องพื้นที่สีเขียวที่มั่นสุดท้าย "ปอดของกรุงเทพ"แห่งนี้ด้วยเช่นกัน