posttoday

เตือนเฝ้าระวังสิ่งปลูกสร้าง72ชม.หลังแผ่นดินไหว

06 พฤษภาคม 2557

วิศวกรรมสถานเตือน เฝ้าระวังสิ่งปลูกสร้างแผ่นดินไหว 72 ชม. ระบุหากพบคานร้าวควรออกจากอาคาร

วิศวกรรมสถานเตือน เฝ้าระวังสิ่งปลูกสร้างแผ่นดินไหว 72 ชม. ระบุหากพบคานร้าวควรออกจากอาคาร

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่อำเภอพาน จ.เชียงรายเตือนให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนเฝ้าระวัง 72 ชั่วโมง  ประชาชนควรตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างบริเวณไหล่เขา หากพบรอยร้าว หรือความเสียหาบริเวณคานรับน้ำหนักตัวบ้าน ควรออกจากอาคารดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะตรวจสอบความเสียหายแน่ชัดว่ามีความปลอดภัยหรือไม่

ทั้งนี้ วสท.จะจัดทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่แผ่นดินไหว เพื่อตรวจตอบอาคารต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยอีกครั้งใน วันที่ 7 พ.ค.

อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในรัศมี 200 กิโลเมตร เฝ้าระวังดินถล่ม ในรัศมีจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 50 กิโลเมตร เนื่องจากวันที่ 5 ถึง 7 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองในพื้นที่ภาคเหนือ และ เฝ้าระวัง อาฟเตอร์ช็อค ตามแนวรอยเลื่อนพะเยา ประกอบด้วย จ. เชียงราย พะเยา และ ลำปาง

อย่างไรก็ตาม อาคารภายในกรุงเทพมหานครที่ได้รับแรงสั่นสะเทือน นั้นอาคารต่างๆที่จดทะเบียนก่อสร้างที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวหลังปี 2550 สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ประมาณ 7 ริกเตอร์ จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่เป็นห่วงอาคารเก่า ที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 แต่ทาง วสท. จะดำเนินการตรวจสอบพร้อมให้ก่อสร้างส่วนค้ำยันอาคารเพิ่มเติมโดยในวันพรุ่งนี้ทาง วสท. จะส่งตัวแทนลงพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ถึงประวัติของอาคารต่างๆ เพื่อสำรวจความเสียหาย วิเคราะห์ และให้คำแนะนำกับ

นายสุชัชวีร์กล่าว่า แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจากการเลื่อนของรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง โดยจุดกำเนิดแผ่นดินไหวมีความตื้น เพียง 7 กิโลเมตร ทำให้มีความรุนแรงสูง ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศไทยขนาดสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร จากศูนย์กลางทั้งนี้หลังเกิดแผ่นดินไหว และเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมากว่า 100 ครั้ง