posttoday

เงียบงัน...ปิดฉาก "กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก"

02 พฤษภาคม 2557

1,400 ล้านบาท ที่ กทม.ใช้ในการจัดงานในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เห็นอะไรบ้าง?

โดย...พริบพันดาว

   บินไปส่งมอบตำแหน่ง "เมืองหนังสือโลก" ให้เมืองพอร์ท ฮาร์คอร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย หลังจากภารกิจของกรุงเทพมหานครสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากทีมผู้บริหารจาก กทม. เองแล้ว ก็ยังมี 2 กวีซีไรต์คือ จิระนันท์ พิตรปรีชา กับศักดิ์สิริ มีสมสืบ เดินทางร่วมขบวนไปด้วย

   โดยในไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของจิระนันท์ที่ใช้ชื่อว่า Chiranan Pitpreecha ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 4 รูปไปยังอัลบั้ม Nigeria - World Book Capital 2014 และได้โพสต์ข้อความที่น่าสนใจถึงการเดินทางไปส่งมอบภารกิจเมืองหนังสือโลกว่า

   ‘กทม. นำโดยรองผู้ว่าฯ และสตาฟฟ์ นำศิลปินสองกลุ่มคือ 3 กวีซีไรต์ กับหุ่นละครโจหลุยส์ ไปร่วมงานส่งมอบตำแหน่งเมืองหนังสือโลกให้เมือง Port Harcourt ประเทศไนจีเรีย 21-25 เมษายน 2557...ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ เกือบสามวัน อยู่ในงานหนังสือสองวันเต็ม ไม่มีรูปบ้านเมืองให้ดู เพราะห้ามออกนอกโรงแรมและพื้นที่จัดงานเด็ดขาด หน้าโรงแรมมีทหารเป็น รปภ.ยืนถืออาร์ก้า รถบัสรับส่งแขกต้องมีรถตำรวจคุม...เพราะประเทศนี้เลื่องลือเรื่องจี้ปล้น ลักพาตัวชาวต่างชาติไปเรียกค่าไถ่ เป็นดินแดนที่ไม่อยู่ในแผนที่ท่องเที่ยวฉบับใด แต่ไฮไลต์คือ เราได้เจอ Wole Solinga นักเขียนรางวัลโนเบล กับกวีนักเขียนชื่อดังของไนจีเรียมากมาย ได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับงานวรรณกรรมต่างทวีป และได้เห็นว่า ประเทศที่ "เถื่อน" ขนาดนั้นยังมีปัญญาชนนักเขียนระดับหัวกะทิของอัฟริกาไม่น้อยเลยทีเดียว และต่างได้รับความนิยมยกย่องในสังคม (คนฟังเสวนา ปาฐกถา เยอะมาก สื่อมากันเพียบ) เนื่องจากมีองค์กรวรรณกรรม Rainbow Club ที่เข้มแข็งคอยกระตุ้นภาครัฐและช่วยบริหารจัดการ ประสบการณ์เดินทางครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เป็นครั้งแรกที่เดินทางไกลข้ามโลกแล้วไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย เห็นแต่ห้องพัก สถานที่จัดงาน และสนามบิน'

   ในทางกลับกัน กรุงเทพฯ ส่งมอบภารกิจให้เมืองหนังสือโลกแห่งใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว แต่คนกรุงเทพฯ เอง และคนไทยส่วนใหญ่รู้หรือยังว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก และสิ้นสุดภารกิจไปแล้ว...

บทสรุปชั้นต้นจากกรุงเทพมหานคร

   9 พันธกิจที่ กทม. ได้พยายามปฏิบัติให้ลุล่วงตามสัญญาที่ทำกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งมีทั้งผลสัมฤทธิ์และกำลังดำเนินการตามพันธสัญญาที่จะใช้งบประมาณผูกพันถึง 1,400 ล้านบาท

   - พันธกิจที่ 1  คือ การจัดสร้างหอสมุดเมือง  กทม. ดำเนินการเช่าอาคาร 3 ชั้น ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณสี่แยกคอกวัว เนื้อที่ประมาณ 4,880.34 ตารางเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 300 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2559 

   - พันธกิจที่ 2 จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูน จะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์การ์ตูน ที่อาคารข้างศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการต้นปี 2559 

   - พันธกิจที่ 3 โครงการวัฒนธรรมการอ่าน สร้างวัฒนธรรมความคิด ระยะแรกทดลองดำเนินการใน 2 พื้นที่ คือ สำนักงานเขตดุสิต และราษฎร์บูรณะโดยส่งเสริมการอ่านในเด็กอายุ 0–7 ปี (Book Start) ต่อมานำผลการศึกษาการใช้เครื่องมือในระยะที่ 1 ไปขยายผล ใน 6 กลุ่มเขต โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการ กลุ่มเขตละ 2 เขต ซึ่งจะได้นำผลการศึกษาระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ผลักดันและกำหนดเป็นนโยบาย กทม.ในการส่งเสริมการอ่านในเด็ก 0–7 ปีให้ต่อเนื่องยั่งยืนต่อไป  ส่งเสริมเยาวชนรักการอ่านเน้นเพิ่มพื้นที่การอ่านตามที่สาธารณะสำหรับทุกวัย

   - พันธกิจที่ 4 การส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน เริ่มจากส่งเสริมให้เด็กโรงเรียนในสังกัดของ กทม. 438 แห่งเป็นโรงเรียนรักการอ่าน เน้นอ่านหนังสือนอกเหนือจากหนังสือเรียน ให้อ่านหนังสือที่มีสาระสร้างสรรค์ 

   - พันธกิจที่  5 การตามหาวรรณกรรมของคนกรุงเทพฯ ได้มีการจัดกิจกรรมตามเทศกาลสำคัญ ผลลัพธ์และผลกระทบ   ทำให้เกิดการเห็นคุณค่าและรู้จักวรรณกรรมมากขึ้น  เกิดการตื่นตัวและสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับประชาชน  เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน มีนักเรียนนักศึกษาที่มาจากโรงเรียนต่าง ๆ ให้ความสนใจจำนวนมาก 

   - พันธกิจที่ 6 การส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ได้มีการจัดกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้มีความสนใจหนังสือวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการปรับปรุงห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้มีนบุรีเป็นห้องสมุดวิทยาศาสตร์ 

   - พันธกิจที่ 7 การส่งเสริมการอ่านหนังสือพัฒนาจิตเน้นกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านหนังสือพัฒนาจิตในศาสนสถาน  การตักบาตรหนังสือ มีการจัดพิมพ์หนังสือพัฒนาจิตมอบให้กับโรงแรม และจัดกิจกรรมการสัมมนาระดับนานาชาติ “Books that InspireLife”

   - พันธกิจที่  8 การดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ขณะนี้มีภาคีเครือข่ายที่ทำสัญญา กับ กทม.แล้ว 104 ภาคี โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน กทม.อย่างต่อเนื่อง 

   - พันธกิจที่  9 คือ การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสำนักพิมพ์นานาชาติ ( IPA  Congress 2014) ซึ่งคาดว่าจะมีสมาชิกทั่วโลก ประมาณ 50 ประเทศ กว่า 800 รายเข้าร่วมประชุม เดิมกำหนดประชุมระหว่างวันที่ 25–27 มีนาคม 2557 แต่เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมไปเป็นระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2558

   หลังจากนี้ กทม. จะมีการสรุปการติดตามและประเมินผลโครงการรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่านในปี พ.ศ. 2556 โดยมีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช (มสธ.) ได้เก็บรวบรวมข้อมูลประเมินผลสรุปผลการดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี ผศ.ดร.วัลภา สบายยิ่ง เป็นหัวหน้าโครงการติดตามและประเมินผลโครงการ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ เสริมสร้างพัฒนาและปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างคุณค่าต่อการสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างแท้จริงด้วย 

‘เมืองหนังสือโลก’ กลายเป็นงานอีเว้นต์

   จากการสำรวจข้อมูลของการใช้งบประมาณหลักๆ ในการจัดงานเมืองหนังสือโลกที่ออกสู่สาธารณชนอย่างจับต้องได้ ซึ่งมีเจ้าภาพคือ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ที่จัดซื้อจัดจ้างผ่านโครงการเมืองหนังสือโลก (พ.ศ. 2556) ผู้ดำเนินการหลักก็คือ บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมสำคัญ 3 กิจกรรม ได้แก่ นิทรรศการ “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก 2556” วันที่ 21-23 เมษายน  2556 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้า สยามพารากอน พิธีรับมอบตำแหน่ง “เมืองหนังสือโลก” จากกรุงเยเรวาน สู่กรุงเทพมหานคร วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และนิทรรศการ “35 ปี รางวัลซีไรต์” วันที่ 21 เมษายน-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

   เวียง - วชิระ บัวสนธ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชน เคยให้สัมภาษณ์โพสต์ ทูเดย์ หลังจากที่เปิดงานเมืองหนังสือโลกไปได้สักประมาณ 1 เดือน ไว้น่าสนใจมากว่า วงการหนังสือมันไม่มีการตรวจสอบใดๆ สมาคมที่เข้าไปร่วมเพื่อผลักดันให้กทม. ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ว่ากันตรงๆ มันก็เข้าไปทำมาหากินกันทั้งนั้น 

   มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการเป็นเมืองหนังสือโลกของ กทม. ไว้ว่า กทม.คงวางแผนของเขา แต่วิธีคิดเมืองหนังสือโลกคือ ป้ายโฆษณาและสปอตโฆษณา ซึ่งแนวคิดมันไม่ค่อยตรงกับวิธีการของเมืองหนังสือ ถ้ายกตัวอย่างเมืองหนังสือโลกทั้งหลายให้เห็นในการเป็นเมืองหนังสือโลก มันมีรูปธรรม และมันมีสิ่งที่น่าทึ่งเกิดขึ้น

   หลายเสียงได้กล่าวตรงกันว่า เมืองหนังสือโลกของกรุงเทพมหานคร เป็นแค่การจัดงานอีเว้นต์ธรรมดาๆ ทั่วไปเพียงเท่านั้น หากว่าไปแล้วการตั้งทูตการอ่านเมืองหนังสือโลก หรือเพลงเมืองหนังสือโลก สปอตโฆษณาเมืองหนังสือโลกในรูปแบบต่างๆ ก็ไม่ได้มีผลกระตุ้นหรือส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อการส่งเสริมการอ่านของคนใน กทม. ทุกอย่างดูเหมือนจะเงียบเชียบ แม้กระทั่ง ผู้บริหาร กทม.เอง ยังออกมายอมรับว่า ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในช่วง 3 เดือนแรกของการประเมินความสำเร็จ แต่ทุกอย่างก็ยังดูเหมือนไม่ดีขึ้นจนสิ้นสุดความเป็น ‘เมืองหนังสือโลก’ ที่มีกรอบระยะเวลา 1 ปีลงไปอย่างเงียบงัน ไม่มีการเฉลิมฉลองอะไรทั้งสิ้น... 

ความในใจคนทำงาน ‘เมืองหนังสือโลก’

   จากผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ออกมา ดูเหมือนสวนทางกับงบประมาณที่ลงไปมากมายจาก กทม. ในการปฏิบัติภารกิจตามพันธสัญญาของการเป็นเมืองหนังสือโลก สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่มวี อาร์ แฮปปี้ และกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก มองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับ กทม.

   “หลายคนก็วิจารณ์ว่า งบประมาณที่เสียไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นของกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก มันคุ้มกันไหม กับเป็นเมืองหนังสือโลกแล้ว คนรักการอ่านเพิ่มขึ้นไหม ตรงนี้อาจจะเป็นการพูดที่บั่นทอนความรู้สึกของคนทำงาน ดิฉันเห็นด้วยในส่วนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาอาจจะไม่หวือหวา ไม่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งเราต้องวางใจว่า เราทำงานเชิงระยะยาวและยั่งยืน คนหนึ่งคนอ่านหนังสือกว่าจะมีผลลัพธ์จากการอ่าน เปลี่ยนการอ่านเป็นความคิด เปลี่ยนความคิดเป็นการกระทำ ซึ่งต้องใช้เวลาที่จะต้องใช้เวลาที่จะไปถึงคำว่า อ่านหนังสือเปลี่ยนความคิด ทุกสิ่งเปลี่ยน”

   สรวงธร บอกว่า ต้องเข้าใจการทำงานเชิงความคิด การทำงานเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างของคนไทย 

   “เรื่องการใช้งบประมาณเป็นเรื่องที่ระแวงกันอยู่แล้ว ใช้คุ้มหรือเปล่า จ่ายแพงไปไหม เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเจอข้อครหา ซึ่งต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างเข้มข้นกันต่อไป แต่ในเรื่องของการทำงานในเรื่องโครงสร้างส่งเสริมการอ่าน และเรื่องคนมีความจำเป็นที่ต้องทำ เพราะเป็นการสื่อสารสาธารณะ เพราะมันเป็นตัวแบบ เป็นกิจกรรมตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจเชิงลึกให้กับสังคม อย่ามองเรื่องการใช้งบประมาณเพียงอย่างเดียว”

   ในฐานะคนทำงานในเชิงลึกที่ขับเคลื่อนความเป็น กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก สรวงธร เป็นตัวแทนหนึ่งในภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านที่มีความร่วมมือกันถึง 104 ภาคี และส่วนใหญ่ล้วนทำงานเชิงรุกในนโยบายส่งเสริมการอ่านมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว 

   “เพราะฉะนั้นพอมีกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกขึ้นมาก็เท่ากับมีเจ้าภาพหลัก มีงบประมาณ มีการเชื่อมสัมพันธ์ และมีการดึงคนเข้ามาช่วยกันทำ นี่คือหัวใจที่ได้รับการพิจารณาว่า กรุงเทพฯ ไม่ได้ทำเพียงหน่วยงานเดียว เป็นการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกส่วนมีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ จนกระทั่งเป็นเมืองหนังสือโลก แต่ละภาคีก็ทำงานในเนื้องานที่ตัวเองถนัด และมาร่วมกันลงขันความคิดในการทำงานขับเคลื่อนพันธกิจต่างๆ ของกรุงเทพฯ ด้วย คิดว่าดอกผลน่าจะตามมาในเร็วๆ วันนี้”

   แน่นอน สรวงธร ชี้ว่า สิ่งที่กรุงเทพฯ ทำอาจจะไม่ดีที่สุดเท่าที่คิดว่าควรจะเป็น เพราะงบประมาณอาจจะไปลงเรื่องสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหอสมุดเมือง พิพิธภัณฑ์การ์ตูน

“ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของกำลังคนที่จะมาทำหน้าที่ในการส่งเสริมการอ่านในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ บรรณารักษ์ได้เปลี่ยนจากหน้าที่ผู้ดูแลหนังสือมามีบทบาทเชิงรุก กลายเป็นผู้จัดการความรู้ ส่งเสริมแรงบันดาลใจในการเลือกใช้หนังสือเพื่อการพัฒนาตนเอง สร้างให้คนอ่านเป็นและเลือกใช้หนังสือเป็น อ่านแล้วพัฒนาสติปัญญาตัวเองและพัฒนาสังคม ระยะยาวสิ่งเหล่านี้จะออกดอกงอกผล” 

   สิ่งที่เธออยากเห็นหลังจากที่สิ้นสุด 1 ปี ของการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก คือ การถอดบทเรียนตรงนี้ออกมาเพื่อให้จังหวัดหรือเมืองอื่นๆ นำไปใช้เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการอ่านด้วย โดยเอาจุดเด่น จุดด้อยจุดเสียมาเปิดและศึกษากัน 

   “อนาคต อยากให้ขยับงานมากขึ้น มีงานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับการอ่านขึ้นมา และมีมุมมองใหม่ๆ เรื่องการวิจัยการอ่านเพื่อการพัฒนาคน และอยากให้กรุงเทพฯ ถอดบทเรียนของการเป็นเมืองหนังสือโลก ที่เกี่ยวกับปัจจัยส่งเสริมและบั่นทอนเกี่ยวกับการทำงาน ที่ฝันไว้ก็คืออยากให้ประเทศไทยมีหน่วยงานเฉพาะหรือองค์กรอิสระที่รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบหนังสือโดยตรงอย่างเป็นเอกเทศ รวมถึงสวัสดิการด้านหนังสือและการอ่าน”

   ทั้งหมดเป็นแค่การประมวลเพียงคร่าวๆ ถึงการปิดฉาก 1 ปี แต่บทสรุปของเมืองหนังสือโลก ที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพในปี 2556 ต้องรออีก 2 ปี จากการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (กทม. เป็นคนจ้างเอง) ซึ่งตอนนั้นคนไทยคงลืมเลือนเมืองหนังสือโลกไปหมดแล้ว และบางคนก็ไม่เคยรู้ว่า มันเคยเกิดขึ้นและมีอยู่ในกรุงเทพฯ

ความหมายของ ‘เมืองหนังสือโลก’

   เมืองหนังสือโลก คือ เมืองที่สร้างเสริมสนับสนุนทุกโอกาสและทุกช่องทางให้พลเมืองทุกกลุ่ม ทุกเพศวัย สนใจการอ่าน ให้ความสำคัญต่อการอ่าน และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน

   แนวคิดเรื่องเมืองหนังสือโลก เนื่องด้วยในปี 2539 ยูเนสโกประกาศให้วันที่ 23 เมษายน ของทุกปี เป็นวันหนังสือและลิขสิทธิ์ของโลก World Book and Copyright Day ซึ่งต่อมาในปี 2544 ยูเนสโกได้ร่วมมือกับสมาพันธ์ผู้จัดจำหน่ายหนังสือจัดโครงการเมืองหนังสือโลก (world book capital) เพื่อรณรงค์ให้เกิดการรักการอ่าน

คุณสมบัติของเมืองที่สามารถเข้าแข่งขันเป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital) จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้

1. ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
2. ต้องจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นการจัดกิจกรรมมหกรรมเกี่ยวกับหนังสือขนาดใหญ่
3. มีโครงการสนับสนุน ทั้งการพัฒนาหนังสือและการอ่าน
4. มีการส่งเสริม สนับสนุน เสรีภาพทางความคิด การแสดงออกและการจัดพิมพ์หนังสือ
5. มีแผนเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายและแหล่งทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างชัดเจน ว่ารับผิดชอบโดยใครและทุนสนับสนุนจากแหล่งใด ซึ่งจะแสดงถึงความพร้อมในการจัดกิจกรรมของเมืองที่เข้าแข่งขัน
6. มีแผนงานและโครงการที่จะดำเนินงานระหว่างปีที่จะได้รับการคัดเลือก
7. การดำเนินงานหลังจากได้รับการคัดเลือกแล้ว จะดำเนินการอย่างไร ต้องมีแผนงานรองรับชัดเจน