posttoday

ม็อบข้าวโพดเชียงรายทวงเงินชดเชย

20 กุมภาพันธ์ 2557

เชียงราย-กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดบุกศาลากลางทวงเงินค่าจำนำข้าวโพด

เชียงราย-กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดบุกศาลากลางทวงเงินค่าจำนำข้าวโพด

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อ.เวียงป่าเป้า นำโดยนายสุทน คำแปง ผู้ใหญ่บ้านห้างต่ำ หมู่ 3 ตงป่างิ้ว อ.เวียงป่าเปา และนายไพโรจน์ กันทะเสน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า พร้อมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด กว่า 100 คน  ชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงรายเพื่อเรียกร้องขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชยตามโครงการจำนำข้าวโพดฤดูกาล 2556/2557 หลังจากกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยจากโครงการรับจำนำข้าวโพดดังกล่าว
 
ทั้งนี้แกนนำของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดได้แจ้งข้อเรียกร้องไปยังทางจังหวัด 4 ข้อ คือ 1.ให้จังหวัดชี้แจงงบประมาณดังกล่าวที่รัฐบาลได้จัดสรรให้กับพื้นที่ จ.เชียงราย 2. ให้จังหวัดชี้แจงการจัดสรรงบประมาณตามโครงการดังกล่าวไปให้กับเกษตรกรในแต่ละอำเภอใน จ.เชียงราย  3.ให้จังหวัดตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรในโครงการ และ  4.ให้จังหวัดเร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังคงตกค้างไม่ได้รับเงินค่าชดเชยใน อ.เวียงป่าเป้า
 
ด้านนายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้เชิญผู้ปลูกข้าวโพดที่มาชุมนุมเข้าไปที่ห้องประชุม ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงรายเพื่อชี้แจงถึงงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรลงไปให้เกษตรกรก่อนหน้านี้ ซึ่งทางจังหวัดมีเงินที่จะได้รับค่าชดเชยตามโครงการรวมจำนวน 235,601,029.40 บาท ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไปให้แล้วจำนวน 153 ล้านบาท ปัจจุบันจึงเหลือคงค้างที่จะต้องจ่ายให้เกษตรกรอีกประมาณ 81 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายงบประมาณเป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการและมีผู้ตรวจการจากส่วนกลางเข้าร่วมด้วยจึงต้องมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ให้ละเอียด ดังนั้นจึงแจ้งให้เกษตรกรลงรายชื่อเอาไว้เพื่อการตรวจสอบซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเรียกร้อง โดยขอให้เกษตรกรกลับไปรออีกประมาณ 30 วัน
 
นายเฉลิม กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพอ อ.แม่สรวย มีโควต้าที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 46 ล้านบาท ได้รับไปแล้วจำนวน 33 ล้านบาท ส่วน อ.เวียงป่าเป้า มีโควต้าที่จะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 97 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรไปแล้วจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งทั้งจังหวัดยังมีปัญหาจึงต้องมีการตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติให้ละเอียด เพราะมีการกำหนดโควต้าผลผลิตทั้ง จ.เชียงราย เอาไว้ที่จำนวน 156,000 ตัน แต่กลับมีการแจ้งยอดเกินกว่า 256,000 ต้น ทำให้นอกจากต้องตรวจสอบแล้วกรณีเป็นของเกษตรกรที่เดือดร้อนจริง ทางพาณิชย์จังหวัดก็ได้ประสานไปยังรัฐบาล เพื่อขอนำโควต้าที่คงเหลือจากจังหวัดอื่นๆ เข้าไปชดเชยเพิ่มเติมด้วย ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันกลับไปรอฟังผลการดำเนินการ