posttoday

ชาวบ้านต้านเวทีรับฟังเขื่อนสาละวิน

18 ธันวาคม 2556

เวทีรับฟังเขื่อนสาละวินล้ม ชาวบ้านกว่า 200 คนร่วมต้าน เหตุกฟผ.และสถาบันศึกษาไม่จริงใจ

เวทีรับฟังเขื่อนสาละวินล้ม ชาวบ้านกว่า 200 คนร่วมต้าน เหตุกฟผ.และสถาบันศึกษาไม่จริงใจ

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่แทมมารีนรีสอร์ท อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดเวทีการมีส่วนร่วมย่อยครั้งที่ 2 ในโครงการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจีหรือเขื่อนฮัตจี บริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยมีชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวิน จำนวนประมาณ 200 คนเดินทางมาร่วมเวที

ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เดินทางมาจากหมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยทั้งหมดเดินทางมาตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. และได้ยื่นหนังสือกับตัวแทนกฟผ. และประธานการประชุมฯ ให้ยุติการประชุมฯและล้มเลิกโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำสาละวิน ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำสาละวินให้เหตุผลว่า ได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องและพบว่า การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาละวินจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แกนนำชาวบ้าน ได้เจรจากับนายวัชรา เหมรัชตานันต์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ 1 กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และมีว่าที่พันตรี ยุทธนา เจ้าดูรี ปลัดอาวุโสอำเภอแม่สะเรียง เป็นตัวแทนนายอำเภอ รับหนังสือจากชาวบ้าน

หลังจากนั้น นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล แกนนำชาวบ้านผู้คัดค้านเขื่อนฯ ได้อ่านแถลงการณ์ต่อหน้าสื่อมวลชนและผู้ร่วมประชุมฯ โดยเนื้อหาระบุว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน ร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายชุมชน 21 องค์กรใน 7 อำเภอ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ได้ดำเนินการจัดการด้านทรัพยากร ลุ่มน้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่าไม้ และแก้ปัญหาไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามสิทธิชุมชนที่พึงมี และจะได้อาศัยอยู่ร่วมกันต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดเวทีการมีส่วนร่วมย่อยครั้งที่ 2 นี้ ซึ่งดำเนินการโดยกฟผ.และสถาบันบริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความชอบธรรม และไม่เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ซึ่งมีการคัดค้านมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องให้ผู้จัดยุติการประชุมในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง หมู่บ้านแม่สามแลบ และหมู่บ้านสบเมยในทันที เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว ที่ กฟผ. ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลใดๆ ของโครงการเขื่อนฮัตจี แก่ท้องถิ่นอย่างครบถ้วน ที่ผ่านมาเป็นแค่การแจกเอกสารเพื่ออธิบายโครงการฯ เท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการศึกษาผลกระทบอันเหมาะสม อาทิ โครงการศึกษาด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและผลกระทบทางชลศาสตร์ที่จะเกิดจากเขื่อนฮัตจี, บันทึกข้อตกลงระหว่าง กฟผ.และกรมไฟฟ้าพลังงานน้ำ, บันทึกข้อตกลงระหว่าง กฟผ.กับบริษัทที่ร่วมรับจ้างทั้งบริษัท ซิโนไฮโดร คอเปอเรชั่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ฯลฯ ทางเครือข่ายล้วนแล้วแต่เคยเรียกร้องให้กฟผ.นำเสนอ แต่ยังไม่เคยได้รับเอกสารดังกล่าว ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงขอให้ยุติทั้งการประชุมและยุติโครงการการดำเนินการทั้งหมด

ทั้งนี้ ในภายหลังที่ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ ทางกฟผ.ได้แนะนำให้ชาวบ้านส่งตัวแทนเข้าร่วมประมาณ 3 คน เพื่อฟังคำชี้แจงโครงการก่อนลงสำรวจในพื้นที่ บ้านท่าตาฝั่ง บ้านแม่สามแลบ และบ้านสบเมย แต่ชาวบ้านปฏิเสธโดยยื่นข้อเสนอขอให้ผู้คัดค้านเข้าร่วมทั้งหมด แต่ทางที่ประชุมแจ้งว่า พื้นที่ไม่พอจึงขอเลื่อนให้แกนนำได้รอการชี้แจงในช่วงเย็น แต่ไม่เป็นผลเพราะตัวแทนชาวบ้านและทางแกนนำไม่ยอมรับในเงื่อนไข จึงตัดสินใจไม่ร่วมรับฟัง และไม่เปิดโอกาสให้ กฟผ.พร้อมทีมงานที่ศึกษาเข้าพื้นที่หมู่บ้าน เพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว

นายวัชรา เหมรัชตานันต์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ 1 กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า กฟผ.ไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ แต่อยากมีโอกาสรับฟังชาวบ้านที่คัดค้าน โดยขอให้เข้าร่วมแค่ตัวแทนเท่านั้น โดยขอเวลาให้ กฟผ.อธิบายโครงการบ้าง และหากชาวบ้านไม่เห็นด้วยยินดีจะฟังกลุ่มย่อยอีกครั้ง จึงอยากให้ทางผู้คัดค้านใจเย็นๆ และค่อยๆ หาโอกาสคุยกัน

ด้านนายตุตู่ มาลาศรีสมร เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน ให้สัมภาษณ์ว่า ชาวบ้านไม่อาจรับเงื่อนไขของ กฟผ.ได้ แต่เหตุผลที่ไม่ประท้วงรุนแรงเพราะไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง แต่ถ้ากฟผ.ยังเดินหน้าต่อ ก็ต้องยอมรับว่าชาวบ้านประกาศเป็นศัตรูและอาจทะเลาะได้ ทั้งนี้ตนเห็นว่าที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามรักษาทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ เพื่อตอบแทนประเทศไทยที่มีแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์แก่ทุกชีวิต หากปล่อยให้เขื่อนเกิดขึ้นก็เท่ากับว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติฯ ที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า จึงอยากให้ กฝผ.ยุติโครงการและหาทางออกในเรื่องการพัฒนาพลังงานด้านอื่นต่อไป

“พวกเราโตมาในชุมชน ใช่ว่าต้องการทะเลาะกับหน่วยงานนะ เราอยู่บ้านดีๆช่วยทำทุกอย่างให้ต้นไม้ ป่าเขาสมบูรณ์ ไม่เคยคิดทำลาย อยากให้ภาคเอกชนและภาครัฐบาลเข้าใจว่า ทุกคนในลุ่มน้ำสาละวิน ขาดป่า ขาดน้ำสาละวิน เหมือนขาดใจ เราเผชิญภัยพิบัติมานาน ไม่อยากให้ประเทศไทยมาเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่เพราะโครงการเขื่อนอีก ดังนั้นหาก กฟผ.เมินเฉยก็ยืนยันว่าจะไม่เจรจา ไม่ว่ากรณีใดๆ” นายตุตู่ กล่าว

ชาวบ้านต้านเวทีรับฟังเขื่อนสาละวิน