posttoday

ลำปางหนาวเตือนระวังโรคปอดอักเสบ

14 ตุลาคม 2556

กลุ่มงานระบาดวิทยาลำปางเตือนระวังโรคปอดอักเสบช่วงหน้าหนาว

กลุ่มงานระบาดวิทยาลำปางเตือนระวังโรคปอดอักเสบช่วงหน้าหนาว

วันนี้ (14ต.ค.) กลุ่มงานระบาดวิทยา และข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อ.เกาะคา จ.ลำปาง ประกาศเตือนประชาชน ให้ระวังโรคปอดอักเสบในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ โดยสาเหตุของการเกิดโรคมาจากร่างกายที่อ่อนแอ และติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา จึงทำให้ปอดทำงานไม่เต็มที่ หายใจติดขัด หอบ เหนื่อย บางครั้งอาการรุนแรง อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้  
 
ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ในปี 2556 พบผู้ป่วย 88,062 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 138.63 ต่อแสนประชากร เสียชีวิตแล้ว 524 ราย คิดเป็น 0.82 ต่อแสนประชากร พบมากที่สุดในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป รองลงมา คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี สำหรับในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด พบผู้ป่วยสูงถึง 11,217 ราย เสียชีวิต 10 ราย โดยจังหวัด ที่มีอัตราการป่วยสูงสุด คือ จ.เชียงราย รองลงมา จ.พะเยา และแม่ฮ่องสอน ซึ่งโรคปอดอักเสบ จะพบผู้ป่วยในทุกเดือน แต่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มาจนถึงเดือนกันยายน และพบมากที่สุดในเดือนตุลาคมของทุกปี
 
ทั้งนี้ ได้แนะนำการป้องกันตนเอง ให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว โดยไม่ไปสัมผัสเชื้อที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ จากผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคปอกอักเสบ รวมถึงระวังการแพร่เชื้อจากการไอ และจามรดกัน ดังนั้น บุคคลใกล้ชิดในครอบครัว เสี่ยงที่จะติดเชื้อมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงสุด คือ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนพื้นที่ ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี จึงควรที่จะหลีกเลี่ยง หรือใช้ผ้าปิดจมูก จะช่วยป้องกันได้
 
การป้องกันตนเองที่ดีที่สุด คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หลีกเลี่ยงควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย และที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ที่จะทำให้ปอดชื้น และได้รับฝุ่นจากสิ่งต่าง ๆ เข้าไป และทำให้เกิดโรคได้ ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการมีไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งปัจจุบันนี้ ทางโรงพยาบาล ได้มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวแก่กลุ่มเสี่ยงแล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ กลถ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง