posttoday

สองชาวนาผู้(ใจ)ยิ่งใหญ่

21 มิถุนายน 2556

สองชาวนาผู้(ใจ)ยิ่งใหญ่ ลูกเรียนจบ ใช้หนี้ และมีรถไถ เพราะ “จำนำข้าว”

สองชาวนาผู้(ใจ)ยิ่งใหญ่ ลูกเรียนจบ ใช้หนี้ และมีรถไถ เพราะ “จำนำข้าว”

หลายปีดีดักที่ชาวนาต้องผจญกับภาวะผันผวนของราคาผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าว ที่แต่ละปีชาวนาจะต้องต่อสู้กับวิธีการกดราคาของพ่อค้าคนกลางครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่มีวันจบ ไม่ว่าเป็นนโยบายประกันราคาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ละนโยบายล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ต้องการช่วยให้เกษตรกรทำนาได้ขายข้าวมีราคา หลักการดีเหมือนกัน แต่วิธีการที่แตกต่างทำให้เกิดความแตกต่างของรายได้ตามมา
 
สมาน บัวจ้อย วัย 60 ปี ชาวนาทุ่งลอ ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา เล่าว่า ชีวิตอยู่กับกลิ่นโคลนสาบควายมานานกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่ทำนาอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จ.กาฬสินธุ์ แต่รายได้ไม่มาก เพราะน้ำไม่ค่อยมี ทำนาลำบากได้ข้าวน้อย จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านปางมดแดงในอ.เชียงคำ ประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ทำนานมาตลอด ชีวิตที่ดิ้นรนกับการทำนาบางปีอยู่ได้ บางปีขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น ทั้งปุ๋ย สารเคมี ค่าแรง ฯลฯ
 
"มาถึงนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมได้ลืมตาอ้าปาก หนี้ที่ติดค้างกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เกือบ 2 ล้านได้เริ่มชดใช้หมดไปแล้วบางส่วน กะว่าถ้าได้จำนำข้าวราคาดีกับรัฐบาลอีก ต่อไปภายใน 4 ปี ต้องปลดหนี้ได้หมดแน่นอน ไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.มาติดต่อที่บ้านถามผมว่า ต้องการเงินกู้เพิ่มไหม เพราะว่ามีรายได้ดีจากการทำนา ผมว่าขอใช้หนี้ให้หมดก่อนดีกว่า เพราะเป็นลูกหนี้มานานแล้ว ถึงเวลาใช้หนี้ไม่มีเงินจะเดือดร้อนมาก"สมาน เล่าถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้
 
สมาน เล่าว่า ปัจจุบันทำนาทั้งหมด 135 ไร่ นำข้าวเข้าโครงการจำนำของรัฐบาล มีรายได้ประมาณ 1.2 ล้านบาท นำมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.ไปส่วนหนึ่ง คิดถึงปัญหาเรื่องค่าแรงที่จะต้องจ้างแรงงานไถนาเตรียมแปลงนาเป็นรายวัน ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงตัดสินใจถอยรถไถป้ายแดงมา 1 คัน ราคา 800,000 บาท ดาวน์ 300,000 บาท คาดว่าภายใน 4 ปี จะนำรายได้จากการนำข้าวจำนำในโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาลมาผ่อนชำระ มันเป็นโครงการที่ดีมากสำหรับชาวนาของไทย เพราะจำนำแล้วได้เงินจริง แต่ในขั้นตอนอาจจะมีล่าช้าบ้าง ตรงนี้ก็คงต้องขอความกรุณาจากทางราชการและผู้เข้าร่วมโครงการที่เกี่ยวข้อง เห็นใจเกษตรกรจะได้ปลดหนี้และมีเงินใช้กับคนอื่นเขาบ้าง
 
ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลปรับลดราคารับจำนำข้าวนาปรังและนาปีลง เพราะหากลดเกษตรกรทำนาที่นำข้าวเข้าจำนำในโครงการจะได้รับราคาจำนำลดลงไปอีก เช่น หากรัฐบาลกำหนดราคาตันละ 15,000 บาท จำนำจริงจะลดเหลือเพียงตันละ 12,000-13,000 บาท ตันละ 20,000 บาท จะลดลงเหลือประมาณตันละ 16,0000-17,000 บาท เพราะทางผู้รับจำนำคือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการจะต้องหักความชื้น หักสิ่งปลอมปนตามหลักเกณฑ์ที่มี ดังนั้นหากรัฐบาลลดราคาจำนำนาปรังเหลือตันละ 12,000 บาท ชาวนาจะจำนำได้จริงเพียงตันละ 8,000-9,000 บาท เท่านั้น
 
"ขอให้คงไว้ที่ราคาเดิม เพราะมีชาวนาหลายรายรวมถึงผมเอง เมื่อปีที่ผ่านมาจำนำข้าวได้ราคา จึงไปถอยรถไถป้ายแดงออกมาใหม่คันละ 800,000 บาท กะว่าผ่อนส่งหมดหนี้ภายใน 4 ปี และใช้หนี้ ธ.ก.ส. จนหมดและเป็นไทภายใน 4 ปี เช่นกัน แต่หากรัฐบาลปรับราคาจำนำข้าวดังกล่าวแล้ว ผมและเพื่อนชาวนาอีกหลายรายเดือดร้อนแน่ รถไถอาจจะถูกยึด หนี้สินอาจจะปลดไม่ได้” นายสมาน กล่าว
 
ด้าน พิทยา ยะนา อายุ 52 ปี หรือ ต้อย ชาวนาบ้านแม่ใส ต.แม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา บอกว่า ทำนามาสัก 20 ปีเห็นจะได้แล้วล่ะ แค่พอกิน แต่ก็นานี่แหละที่ได้ส่งเสียให้ลูกชายคนเดียวได้เรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และได้ทำงานในสังกัดของกรมทางหลวง อย่างที่เขาใฝ่ฝันสมใจ
 
"เมื่อผืนนาคือชีวิต คือครอบครัว คือความสำเร็จ อาชีพทำนาจึงเป็นอาชีพเดียวและอาชีพหลักที่ทำให้เรายืนอยู่ได้จนทุกวันนี้"พิทยา เล่าถึงกระดูกสันหลังของชาติ
 
ทุกปีทำนาแล้วต้องขายข้าวให้กับพ่อค้าคนกลาง ถึงแม้นว่าจะสะดวกเพราะเขามารับซื้อถึงในนา ง่ายสำหรับชาวนา ไม่ต้องขนย้ายให้เสียเวลา แต่ก็ใช่ว่าจะได้ราคาสูงอย่างที่ทุกคนต้องการ ผีที่ลากถึงป่าช้าไม่เผาก็ต้องฝัง ดังนั้นทุกปีชาวนาจะเป็นรองพ่อค้าคนกลางเสมอมา
อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ชาวนาอย่างเรา ๆ ได้มีเสียงหัวเราะ ดีใจ ที่มีรายได้จากการจำนำข้าวกับรัฐบาล เพราะนั่นหมายถึงได้เงินมากขึ้น มีเงินใช้มากกว่าทุกปี และเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ปีนี้แม้นว่านาข้าวจะได้น้อยเพราะผลผลิตไม่ค่อยดี จำนำได้ถึง 70,000 บาท ทีเดียว
 
เงินที่ได้นอกจากใช้ส่งเสียลูกเรียนจนจบแล้ว ยังนำไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. และเหลืออีกเล็กน้อย พอเห็นคนที่เขามีรถไถนานั่งขับกันใช้สบายใจ แถมออกรับจ้างได้เงินด้วย จึงตัดสินใจกับสามีนำเงินที่ได้จากจำนำข้าวมาดาวน์รถไถนา 1 คันๆ ละ 800,000 บาท  กะว่าจะนำเงินที่ได้จากจำนำข้าว เก็บหอมรอมริบกับเงินค่าจ้างจากรถไถนาจ้างเฉลี่ยไร่ละ 850 บาท(ไถ-พรวน-ปั่น เตรียมพร้อมสำหรับปลูก) จะนำมาจ่ายค่างวดรถไถ
 
"แต่ถ้าหากรัฐบาลลดราคารับจำนำ ยังคิดไม่ออกเลยว่าจะมีเงินใช้หนี้และผ่อนรถไถได้อีกหรือเปล่า... คิดว่าถ้ารัฐบาลช่วยเหลือชาวนาทั่วประเทศให้อยู่ดีกินดี และมีรายได้ใช้จ่ายมากขึ้น ถือว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือคนจนอย่างพวกเราถูกจุดแล้ว” .... นางพิทยา กล่าวย้ำ