posttoday

พบสารก่อมะเร็ง15ชนิดในหมอกควันเหนือ

05 เมษายน 2556

นิด้าเผยผลวิจัยหมอกควันภาคเหนือมีสารก่อมะเร็ง 15 ชนิดเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ เดือนละ 75 มวน

นิด้าเผยผลวิจัยหมอกควันภาคเหนือมีสารก่อมะเร็ง 15 ชนิดเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ เดือนละ 75 มวน

นาย ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่า ผลวิจัยศึกษาฝุ่นละอองในอากาศจากวิกฤติหมอกควันภาคเหนือตอนบน พบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 9 จังหวัด โดยที่ จ. เชียงใหม่ช่วงวิกฤต มีค่าการสะสมสูงสุด สามารถวัดได้ว่า สภาพอากาศที่หายใจเข้าไป มีสารก่อมะเร็งสำคัญๆ  15 ชนิด ปนเปื้อนในอากาศ โดยพบ เบนโซไพรีน(Benzo(a)pyrene) ปนเปื้อน เทียบเท่ากับที่พบในการสูบบุหรี่ เดือนละ 75 มวน   โดยการตรวจวัดดังกล่าว เป็นการตรวจวัดตามค่ามาตรฐานที่ใช้ในประเทศนอร์เวย์ 

นอกจากนี้ ยังพบว่า จ. แม่ฮ่องสอนมีค่า Total PAHs สูงสุดที่ 3,864 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมา คือ จ.ลำพูนอยู่ที่ 866 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงพบว่า  จ. เชียงราย จ. แม่ฮ่องสอน มีฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 5 เท่า

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าว ยังสามารถตรวจวัดรายละเอียด สารปนเปื้อนในฝุ่นได้ ได้ละเอียดดว่าเครื่องมือของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึง 4 เท่า  ทำให้สามารถการเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากลักษณะการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของฝุ่นละอองในบรรยากาศ เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์การเกิดโรคมะเร็งปอด

อย่างไรก็ดี อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ยังมีข้อจำกัด ในการตรวจวัดสารปนเปื้อนบางชนิด ซึ่งกังวลว่าจะพบปนเปื้อนเช่นกัน โดยเฉพาะตรวจหาค่าของ ไดออกซิน หรือ สารเคมี ที่พบใน สารกำจัดศัตรูพืช การผลิตพลาสติกประเภท PVC การผลิตเยื่อกระดาษ การฟอกสีกระดาษ การเผาขยะ

"งานวิจัยนี้ ยังไม่ได้ตรวจหา ไดออกซิน ซึ่งนอกจากจะเป็น สารตัวหนึ่งที่หากร่างกายรับเข้าไปมาก แล้วเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็ง ยังเป็นสารเคมีที่อันตรายต่อการสืบพันธุ์ ต่อระบบคุ้มกัน และระบบฮอร์โมนของร่างกายซึ่งจะส่งผลไปถึงการกลายพันธุ์ของมนุษย์ หรือส่งผลกระทบไปถึงประชาชนรุ่นถัดไปหรือรุ่นลูกได้อีกด้วย แต่เราก็ยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัด"นายศิวัชกล่าว