posttoday

ตรังตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาพะยูนตาย

21 มีนาคม 2556

ตรังตั้งคณะทำงานใช้แผนแม่บทแก้ปัญหาพะยูนตายแหล่งอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ตรังตั้งคณะทำงานใช้แผนแม่บทแก้ปัญหาพะยูนตายแหล่งอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย 

สพ.ญ.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฝั่งอันดามันจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า  ได้มีการหารือร่วมกับหลายๆ ภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดตรัง  เช่น ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรและชายฝั่งที่ 6 อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ประมงอำเภอกันตัง สมาคมหยาดฝน และแกนนำชาวประมงพื้นบ้าน 4 อำเภอ คือ หาดสำราญ สิเกา กันตัง ปะเหลียน  หลังจากในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาสัตว์ทะเลหายาก  โดยเฉพาะพะยูน โลมา และเต่าทะเล ตายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ในปี 2555 พบพะยูนลอยตายในท้องทะเลตรังจำนวน 11 ตัว ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (2535-2554)  และจากการสำรวจทางอากาศเมื่อต้นปี 2555 พบพะยูนเพียง 110-135 ตัว  ถือว่ามีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับผลการสำรวจที่บริเวณเกาะมุกด์ และเกาะลิบง อำเภอกันตัง  ซึ่งเป็นแหล่งพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2554 ซึ่งพบพะยูน 134-150 ตัว  ทำให้พะยูนในพื้นที่จังหวัดตรัง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  และพะยูนที่เกยตื้นร้อยละ 95 ตายจากการจมน้ำขณะติดเครื่องมือทำประมง คือ อวนลอย เบ็ดราไว โป๊ะน้ำตื้น
 
สพ.ญ.พัชราภรณ์ กล่าวอีกว่า พะยูนจำนวนหนึ่งน่าจะมีโอกาสรอดชีวิต แต่ก็ต้องมาตายจากการถูกฆ่าเพื่อนำเขี้ยวและชิ้นส่วนอื่นๆ ไปเป็นเครื่องประดับ  และอีกร้อยละ 10 ตายจากการป่วยโดยพยาธิ  ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมจากสภาวะมลพิษ  นอกจากนี้ ยังพบมีการอพยพย้ายถิ่นของพะยูนจากจังหวัดตรัง  ไปยังแหล่งหญ้าทะเลใกล้เคียง เช่น ที่เกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่ เป็นต้น  ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากผลกระทบทางลบจากการสัญจร และกิจกรรมทางทะเล  หรือการเสื่อมโทรมลงของแหล่งหญ้าทะเล โดยเฉพาะชนิดใบมะขาม ที่พะยูนชอบกิน
 
นอกจากนี้นายสัตวแพทย์กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยอีกว่า  ล่าสุดได้มีการคัดเลือกคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้แผนแม่บทมีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม  โดยมีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังลดอัตราการตายของกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ทั้งพะยูน โลมา และเต่าทะเล  ส่วนผลการประชุมร่วม 2 จังหวัดฝั่งอันดามันล่าสุด  ก็จะนำไปปรับใช้กับแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดภูเก็ต  เพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนที่ปลอดภัยอีกแหล่งหนึ่งในฝั่งอันดามันต่อไป