posttoday

ก.เกษตรทุ่มงบฟื้นนาร้าง5จว.ชายแดนใต้

12 กุมภาพันธ์ 2556

ก.เกษตรจัดงบ1,470ล้านบาทฟื้นนาร้าง15,000ไร่ในพื้นที่5จว.ชายแดนใต้ หนุนแปรรูปสินค้าส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน

ก.เกษตรจัดงบ1,470ล้านบาทฟื้นนาร้าง15,000ไร่ในพื้นที่5จว.ชายแดนใต้ หนุนแปรรูปสินค้าส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน  

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการบูรณาการนโยบายด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า ในปี 2556 กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,470 ล้านบาท โดยหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย และสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา สินค้าประมง และปศุสัตว์ โดยเฉพาะแผนการฟื้นฟูพื้นที่นาร้างเป้าหมาย 15,000 ไร่ ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องตามแผนเดิมที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด โดยจะได้มีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของการกำหนดเขตการปลูกพืช หรือ โซนนิ่งตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศไปแล้วควบคู่กับความต้องการของตลาดเพื่อออกจำหน่ายออกนอกพื้นที่ด้วย
         
สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพและตลาดมีความต้องการในขณะนี้ ได้แก่ โคเนื้อ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มที่ดีจากความต้องการจากประเทศมาเลเซียในการรับซื้ออย่างมาก ดังนั้น ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์พิจารณาแนวทางในการให้จังหวัดยะลาเป็นจุดพัก เพื่อตรวจสอบและกักกันโรคก่อนส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศมาเลเซีย หากเป็นไปได้จะสร้างรายได้ให้แก่พื้นที่อีกมาก รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และหาตลาดให้กับสินค้าเกษตรที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ เช่น ส้มโชกุน ทุเรียน เป็นต้น ด้วย
         
"กระทรวงเกษตรฯ ถือเป็นหน่วยงานที่ยังคงให้ความสำคัญและเข้ามาดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่ประสบปัญหาในเรื่องความไม่สงบในพื้นที่มาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ให้ได้ 180,000/ครัวเรือน/ปี และสร้างมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น จากในปี 2555 มูลค่าการค้าสินค้าด้านการเกษตรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมูลค่าทั้งสิ้น 104,938 ล้านบาท โดยสินค้า 5 ชนิดหลักได้แก่ 1.ยางพารา มีมูลค่าทั้งสิ้น 73,280 ล้านบาท คิดเป็น 69.8% 2. สินค้าประมง 11,515 ล้านบาท คิดเป็น 12.9% 3.ไก่เนื้อ 3,149 ล้านบาท คิดเป็น 3% 4.ไม้ผล เช่น ลองกอง ทุเรียน ส้มโชกุน 2,729 ล้านบาท คิดเป็น 2.6% 5. ข้าว 1,364 ล้านบาท คิดเป็น 1.3%" นายยุคล กล่าว