posttoday

ศก.เชียงของโตผังเมืองส่อคลอดไม่ทัน

03 กุมภาพันธ์ 2556

ขณะที่ อ.เชียงของของเชียงรายกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดจากเศรษฐกิจชายแดน แต่ผังเมืองที่รองรับกลับส่อแววที่จะประกาศใช้ไม่ทันต่อการพัฒนา

โดย....ทีมข่าวภูมิภาค

ภาคการลงทุนใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เดินหน้าต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ฝั่งไทยและฝังลาว ก่อนการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 อย่างเป็นทางการ ในประมาณกลางปี 2556 ขณะที่รัฐเร่งผลักดันให้มีการประกาศใช้ผังเมืองเชียงของ เพื่อควบคุมโซนนิ่งการพัฒนาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบ โดยจาก 18 ขั้นตอน ยังคงขยับได้แค่ 6 ขั้นตอนเท่านั้น

การดำเนินการเกี่ยวกับผังเมืองรวม ในพื้นที่ชายแดนไทย - สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย จนถึงขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ แต่ยังไม่มีการประกาศใช้ โดยการดำเนินการได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการระดับต่างๆ เพื่อพิจารณาเรื่อยมา กระทั่งปี 2552 มีการร่างเป็นผังเมืองรวมอำเภอเชียงของขึ้น จากนั้นปรับปรุงจากร่างเดิม แต่ปรับเพิ่มให้มีการศึกษาเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเข้าไปด้วย

จากนั้นได้นำเสนอไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จนได้ข้อสรุปร่วมระหว่าง กนอ.และกลุ่มรักษ์เชียงของ ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน ว่า พื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 16,000 ไร่ ในเขต ต.ศรีดอนชัย และ ต.สถาน สามารถให้มีอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาดหรืออุตสาหกรรมสีเขียว เพียงแค่ 9 ประเภทเท่านั้น และให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน รวมทั้ง มีการศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงกับอาเซียน โดยเฉพาะการรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งในส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่จริง และประชากรแฝง  เพราะหลังการเปิดประชาคมอาเซียน คาดว่า ภายในพื้นที่อำเภอเชียงของ จะมีจำนวนประชากรโดยรวมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน จากเดิมที่มีอยู่ 30,610 คน ในปัจจุบัน

นายเอกอดุลย์ ป้อมเสมา หัวหน้ากลุ่มวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการจังหวัดเชียงราย บอกว่า ปัจจุบันมีการนำเสนอไปยังคณะกรรมการผังเมืองแล้ว และได้รับคำแนะนำให้นำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อเดือนก.ย. 2555  เพื่อรองรับอนาคตระยะเวลา 20 ปี และปรับผังเพิ่มเติมทุกๆ 5 ปี นับจากการประกาศเป็นกฎกระทรวงและบังคับใช้ อย่างไรก็ตามโดยระเบียบนั้นการประกาศใช้ผังเมืองจะต้องปฏิบัติผ่าน 18 ขั้นตอน แต่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ 6 และหลังจากนี้ยังต้องมีอีกหลายขั้นตอน รวมไปถึงการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนการปิดประกาศในพื้นที่ภายใน 90 วัน เป็นต้น จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผังเมืองรวมอำเภอเชียงของ จะสามารถประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ เพราะต้องอาศัยการพิจารณาในคณะกรรมการระดับต่างๆ และปัจจัยอื่นๆอีกมาก กระนั้นจากร่างผังเมืองที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว กับผังเมืองฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะประกาศใช้ในอนาคต คงจะไม่แตกต่างกันมากนัก

“ดูจากร่างผังเมืองอำเภอเชียงของ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พื้นที่ใหญ่จะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่แสดงไว้เป็นสีเขียวอ่อน พื้นที่การเกษตร สีเขียวเข้ม สปก.4-01 เป็นรอยประสีเขียว พื้นที่อุตสาหกรรมสีม่วง พื้นที่สีเหลือง สีส้มและแดง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นน้อยไปหาความหนาแน่นมาก ฯลฯ"หัวหน้ากลุ่มวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการจังหวัดเชียงราย ระบุ

นายเอกอดุลย์ บอกอีกว่า กรณีถนนสายใหม่ซึ่งเชื่อมจากถนนสายเชียงราย-เชียงของ ต.สถาน ได้เบี่ยงไปทางโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 4  บริเวณดังกล่าวยังมีพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นกรรมสิทธิ์ถือครอง สปก.4-01 อยู่อีก ซึ่งหากจะมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รองรับกับสะพาน ก็อาจต้องยกเลิกเขต สปก.4-01 ดังกล่าวด้วย เพราะกรณีนี้ก็อาจเป็นผลทำให้ต้องมีการปรับร่างผังเมืองรวมต่อไป  อีกทั้งกรณีการศึกษาเส้นทางรถไฟ ที่ยังไม่มีความแน่นอนต่อการกำหนดเส้นทางเพื่อเข้าสู่อำเภอเชียงของ

พื้นที่เทศบาล ต.เวียง และ ต.สถาน ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ปรากกฏว่าในช่วงที่ไม่มีผังเมืองรวมนี้ จะมีการใช้เพียง พรบ.ควบคมอาคาร ซึ่งผู้ปลูกสร้างต้องขออนุญาตไปยังหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน แต่ก็ไม่มีระเบียบควบคุมความสูงของอาคาร เพราะยังไม่มีผังเมืองรวมดังกล่าวประกาศบังคับใช้ในพื้นที่ ซึ่งหวังว่ากลางปี 2556 จะมีผังเมืองรวมของจังหวัดเชียงรายเกิดขึ้นก่อนเพื่อบังคับใช้ ซึ่งหากยังไม่มีผังเมืองระดับอำเภอ ก็สามารถใช้ผังเมืองรวมระดับจังหวัดไปก่อน แต่อาจจะไม่ละเอียดเท่ากับผังเมืองที่แยกย่อยระดับอำเภอ

อย่างไรก็ตามในตอนนี้ จ.เชียงราย มีผังเมืองที่ประกาศและบังคับใช้แล้ว 5 แห่ง คือ เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย ต.บ้านเหล่า อ.เวียงเชียงรุ้ง ต.บุญเรือง อ.เชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นในเข้ามา ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยงข้องพยายามดำเนินการ แต่กรณีของ 3 อำเภอชายแดน คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ขณะที่แหล่งข่าวผู้ประกอบการค้าในอ.เชียงของ กล่าวให้ความเห็นต่อกรณีผังเมืองกับการพัฒนาอำเภอเชียงของ ว่า ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่อ.เชียงของเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาอย่างมาก และเชื่อว่าในปี 2556 จะเป็นอีกช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดมาก เพราะมีสะพานข้ามโขงที่เชื่อมระหว่างเชียงของ – เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เป็นตัวแปรที่สำคัญ และปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเจริญเติบโตนี้ ไม่สามารถรอกลไกการควบคุมของรัฐ เพื่อการจัดระเบียบต่างๆได้ ในความเป็นจริงแล้วแผนงานเหล่านี้ ควรจะเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 ปีที่การพัฒนาเริ่มสู่การก้าวกระโดด 

ด้านนายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)  บอกว่า ได้เตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยขณะนี้ไม่เพียงแต่ใบขับขี่สมาร์ตการ์ดของไทยจะใช้ได้ในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น รถบรรทุกสินค้าและรถโดยสารของประเทศไทยยังสามารถนำเข้าไปใช้งานในประเทศภาคีคู่สัญญาได้ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากประเทศนั้นๆ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลง ว่าด้วยการยอมรับหนังสือรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ที่ใช้ในการพาณิชย์สำหรับรถบรรทุกสินค้า และรถบริการสาธารณะที่ออกโดยประเทศอาเซียน พร้อมกันนี้รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เช่น รถบรรทุก และรถโดยสาร สามารถวิ่งเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนป้ายทะเบียนรถ เนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนรถดังกล่าวมีภาษาอังกฤษกำกับไว้เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้มีการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามแดน/ผ่านแดน รวมถึงการจัดทำร่างกรอบความตกลงอาเซียนในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นจากที่ได้ดำเนินการแล้ว ในปัจจุบันคือ การอนุญาตให้มีการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ระหว่างไทย-ลาว, ไทย-ลาว-เวียดนาม และไทย-กัมพูชา รวมทั้งการ เดินทางโดยสารประจำทางระหว่างประเทศไทย-ลาว จำนวน 10 เส้นทาง และไทย-กัมพูชา จำนวน 2 เส้นทาง และในอนาคตคาดว่าจะมีการเปิดการขนส่งระหว่างไทย-ลาว-จีน ต่อไป 

ทั้งนี้กรมได้เตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งเชียงของ จ.เชียงราย การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าเมืองหลักในภูมิภาคและเมืองชายแดน 15 แห่ง เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค สร้างจุดพักรถบนเส้นทางหลวง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคด้านความปลอดภัย ทั้งในเรื่องรูปแบบของแสงที่ออกจากโคมไฟของรถ และประตูทางขึ้นลงของรถโดยสาร ที่จะนำไปใช้บนถนนที่มีการจราจร ชิดขวาด้วย