posttoday

คลื่นลมแรงดันอาหารทะเลราคาพุ่ง

04 มกราคม 2556

อาหารทะเลพัทลุง ขาดแคลน ราคาพุ่งเกือบเท่าตัว ชาวประมงเสี่ยงตายออกหาปลา ล่าสุด "ปลาทู" ขยับ 90 บาท / กก. หลังคลื่นลมแรง

อาหารทะเลพัทลุง ขาดแคลน ราคาพุ่งเกือบเท่าตัว ชาวประมงเสี่ยงตายออกหาปลา ล่าสุด "ปลาทู" ขยับ 90 บาท / กก. หลังคลื่นลมแรง
 
จังหวัดพัทลุงประกาศเตือนประชาชน ให้ชาวประมงที่อาศัยอยู่ริมทะเลสาบพัทลุง-สงขลา ใน 5 อำเภอ ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งเนื่องจากคลื่นลมแรง 1-2 ม. และชาวประมงในพื้นที่ก็หยุดหาปลากันหมด แต่ยังมีชาวประมงหนึ่งเดียวของจังหวัดพัทลุง ด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการออกเรือ จึงเสี่ยงตายฝ่ากระแสคลื่นลมออกหาปลา เพียงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
 
นางเล็ก มาสุข   ชาวประมง อยู่บ้านเลขที่ 196 ม.8 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า  ตนกับสามีต้องตื่นแต่ฟ้าสาง เพื่อนั่งรอดูท้องฟ้าและกระแสลม หากมีท้องฟ้าเปิดก็จะติดเครื่องยนต์ออกเรือไปอย่างรวดเร็ว เพราะสภาพอากาศในทะเลเปลี่ยนแปลงบ่อยเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ ซึ่งระยะทางจากบ้านตนต้องขับเรือไปประมาณ 4-5 กม.เพื่อข้ามฝั่งไปยังบริเวณคลองยวนซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาหัวโม่ง หลังจากได้ปลามาแล้วประมาณ 20-30 กก. ก็ต้องรีบกลับเพื่อนำไปจำหน่ายในราคากก.ละ 30 บาท โดยนำรายได้ไปซื้อข้าวสาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแชร์ และส่วนหนึ่งให้ลูกไปโรงเรียน
 
นางเล็ก ยังกล่าวอีกว่า การออกทะเลแต่ครั้งมีความเสี่ยงถึงชีวิต แต่ด้วยความจำเป็นในภาระและหน้าที่ ประกอบกับประสบการณ์ในการออกเรือหาปลา กว่า 30 ปี จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่กังวลมากกว่าคือพรุ่งจะเอาไรกิน
 
นางรอฮะห์ จิตนารี แม่บ้านบ้านควนอินนอโม เทศบาลตำบลเขาหัวช้าง อ.ตะดหมด จงพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้อาหารทะเลได้เกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งเดิมในตลาดสดจะมีแม่ค้าขายปลาเป็นจำนวนมาก แต่มาระยะนี้แทบจะไม่มีมีโดยเหลือประมาณ 1 ราย โดยปลาทูราคาประมาณ 90 บาท / กก. ซึ่งเดิมตามปกติราคาประมาณ 60 - 70 บาท / กก. โดยแม่ค้าอ้างว่าตอนนี้ทะลเออกหาปลาไม่ได้ จึงเกิดภาวะขาดแคลน
 
นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง  ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย   ย้อนหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา รวม 7 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอป่าพะยอม อำเภอศรีบรรพต และอำเภอปากพะยูน  จำนวน 38 ตำบล 230 หมู่บ้าน ขณะที่หน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น อบต.และเทศบาล ต่างมองว่าการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัยในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง ย้อนหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลายและบางพื้นที่ระดับน้ำลดเข้าสู่สภาวะปกติแล้วนั้น เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์และล่าช้า
 
โดยเฉพาะสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัด ที่ทำงานล่าช้า ส่งผลให้หน่วยงานระดับล่างไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันถ่วงที่และส่งผลให้ผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนในเรื่องเครื่องอุปโภค บริโภค ในช่วงที่ถูกน้ำท่วม.