posttoday

เผยมีหญิงหม้ายจากไฟใต้กว่า3พันคน

18 ธันวาคม 2555

เครือข่ายผู้หญิงเผย 9 ปีเหตุความไม่สงบภาคใต้มีหญิงหม้ายกว่า 3,000คน แนะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ

เครือข่ายผู้หญิงเผย 9 ปีเหตุความไม่สงบภาคใต้มีหญิงหม้ายกว่า 3,000คน แนะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.   องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์สื่อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสหภาพยุโรป จัดเวทีเสวนา “เวทีผู้หญิง:สิทธิและบทบาทในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้”

นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม และผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดมาตั้งแต่ปี 2547 ว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000  คน บาดเจ็บกว่า 9,000 คน มีผู้ถูกควบคุมตัวไปกว่า 5,000 คน มีหญิงหม้ายกว่า 3,000  คน เด็กกำพร้ากว่า 5,000  คน และระยะหลังยังพบว่าผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งผู้หญิงและเด็กกลายเป็นเหยื่อโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้วัตถุระเบิดในการก่อเหตุเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์โดนลูกหลง

นอกจากผลกระทบ ที่เป็นความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ คุณภาพชีวิตและการพัฒนาในพื้นที่ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้

ทั้งนี้อยากเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาภาคใต้ร่วมกัน ดังนี้ ทุกภาคส่วนต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพเพิ่มขึ้น  เพราะปัจจุบันผู้หญิงไมใช่เหยื่อที่รอการเยียวยาเพียงเท่านั้น แต่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ด้าน นางสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตรีเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในสถานการณ์เดียวกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้ง ผู้หญิงประสบปัญหา หรือมีมุมมองต่อปัญหาและหนทางแก้ไขที่แตกต่างจากผู้ชาย เช่น การดูแลบุตรหลาน การต้องปรับตัวดูแลเศรษฐกิจของครอบครัวแทนสามี ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และที่สำคัญประสบการณ์จากต่างประเทศพบว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังเช่นในมินดาเนาว์ ประเทศฟิลิปปินส์

นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานอาวุโสมูลนิธิเอเชีย กล่าวว่า นโยบายการบริหารยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาชายแดนใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ใช้เป็นกรอบในการส่งเสริมสิทธิและบทบาทของผู้หญิงได้  ซึ่งจำเป็นต้องทำก่อนมีการเจรจาในเรื่องสันติภาพ

ปัญหาเชิงโครงสร้างในชายแดนใต้ ที่ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง มีการคอรัปชั่น การกดขี่ข่มเหง การเลือกปฏิบัติ ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ขาดธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกระจายอำนาจการบริหารชายแดนใต้ให้ชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงได้มีส่วนร่วม รัฐจะต้องกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในทางการบริหารท้องถิ่นให้มากขึ้น อาจพิจารณาใช้รูปแบบมาตรการพิเศษ อาทิ มีการกำหนดให้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดมุมมองที่ความสมดุลย์ระหว่างหญิง-ชาย  คณะกรรมการต่างๆ ควรจัดที่นั่งให้ผู้หญิงอย่างน้อย หนึ่งในสาม และให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเรื่องการรักษาความปลอดภัย