posttoday

บุรีรัมย์แห่ขายข้าวโรงสีใช้หนี้

26 ตุลาคม 2555

ชาวนาบุรีรัมย์แห่นำข้าวขายโรงสีใช้หนี้หวั่นดอกเบี้ยเพิ่มเมินจำนำยุ่งยากได้เงินช้าแถมรัฐยังไม่เปิดจำนำ

ชาวนาบุรีรัมย์แห่นำข้าวขายโรงสีใช้หนี้หวั่นดอกเบี้ยเพิ่มเมินจำนำยุ่งยากได้เงินช้าแถมรัฐยังไม่เปิดจำนำ

เกษตรกรจ.บุรีรัมย์ แห่นำผลผลิตข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวสดไม่ผ่านการตากแห้งไปขายให้กับผู้ประกอบการ "โรงสีไฟสหพัฒนา" อ.สตึก แทนการเข้าร่วมโครงการรับจำนำเพียงแห่งเดียวเฉลี่ยวันละร่วม 200 ราย หรือปริมาณข้าวเฉลี่ยวันละร่วม 60 ตันมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว โดยโรงสีจะรับซื้อในกิโลกรัมละ 14.80 บาทไม่ต้องผ่านการหักสิ่งเจือปน ทั้งไม่ต้องวัดความชื้น โดยเกษตรกรให้เหตุผลว่าแตกต่างกับโครงการรับจำนำที่มีขั้นตอนยุ่งยากและได้รับเงินล่าช้าถึงแม้โครงการจำนำจะตั้งราคาไว้สูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาทก็ตามประกอบกับโรงสีในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯทั้ง 19 แห่งยังไม่สามารถเปิดรับจำนำได้เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของ อคส.ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศเริ่มดำเนิน โครงการฯมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ผ่านมานานร่วมหนึ่งเดือนแล้ว
 
ทั้งนี้สาเหตุที่เกษตรกรนำเลือกนำข้าวสดที่เก็บเกี่ยวใหม่มาขายโดยไม่ผ่านการตาก เพราะต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว จ่ายค่าปุ๋ยค่าจ้างแรงงาน ทั้งต้องการนำเงินไปชำระหนี้สินนอกระบบและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส.) ที่ได้กู้ยืมมาลงทุนทำนาก่อนจะครบกำหนดชำระซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมสูงขึ้นทุกวันตามไปด้วย
 
นายจง สมโภชน์ อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 10  บ้านโนนกลาง ต.แคนดง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้ทำนา 30 ไร่ แต่ได้ผลผลิตข้าวเพียง 15 ไร่ เพราะนาข้าวประสบปัญหาภัยแล้งในรอบ 10  ปี เสียหายสิ้นเชิงไป 15 ไร่กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกมาขายนำเงินไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)ที่มีอยู่กว่า 500,000 บาท เนื่องจากถึงเวลาที่ต้องชำระในช่วงเดือนพ.ย.ของทุกปี เป็นเงิน 70,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ยหากรอให้ถึงการเปิดรับจำนำข้าวของรัฐบาล เกรงว่าจะไม่ทันใช้หนี้และทำให้มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย
 
นายจง กล่าวอีกว่า จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวข้าวมาขายช่วงนี้แม้ว่าจะต้องขายข้าวสด ไม่ต้องรอตากให้แห้งและขายข้าวได้ราคาไม่สูงเท่ากับจำนำก็ตามอีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เปิดรับจำนำแต่คงไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะขั้นตอนยุ่งยากล่าช้า จะขายข้าวเพียงพอใช้หนี้ธกส.และใช้จ่ายเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้กิน และรอทำนาปรังอีก
 
ด้าน นายสุทิน อึ้งพัฒนากิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงสีไฟสหพัฒนา อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในแต่ละวันต้องจ่ายเงินซื้อข้าวเปลือกสดจากเกตษรกรที่นำมาขายให้กับโรงสีวันละกว่า 9 ล้านบาทมานานกว่า สัปดาห์แล้ว โดยทางโรงสีจะให้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 14.80 บาท ถึง 15 บาท โดยไม่ต้องวัดความชื้นและหักสิ่งเจือปน แต่หากเกษตรกรรายได้นำข้าวที่ตากแล้วมาจำนำ ก็จะให้ราคากิโลกรัมละ 18-19 บาทซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ เพราะต้องการนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นอย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ผลผลิตข้าว จะออกสู่ตลาดลดลงไม่น้อยกว่า 30 - 40 % เนื่องจากนาข้าวของเกษตรกรในหลายอำเภอประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตเสียหาย