posttoday

นักวิชาการแนะทางออกควรยุบสภาภายใน 3 เดือน

22 มีนาคม 2553

กลุ่มนักวิชาการภาคเหนือแนะรัฐบาลควรยุบสภาภายใน 3 เดือนย้ำต้องเจรจาเพื่อเกิดการยอมรับการเลือกตั้ง

กลุ่มนักวิชาการภาคเหนือแนะรัฐบาลควรยุบสภาภายใน 3 เดือนย้ำต้องเจรจาเพื่อเกิดการยอมรับการเลือกตั้ง

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 เชียงใหม่ สำนักกระจายอำนาจและปกครองตนเอง ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดเวทีเสวนา ยุบสภา ทางออกวิกฤตการเมืองไทย โดยมีนักวิชาการจากหลายกลุ่มเข้าร่วม ได้แก่ นายไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีผู้ร่วมเสวนากว่า 50 คน ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายอรรถจักร กล่าวว่า การเสวนานี้ทางกลุ่มได้เสนอให้รัฐบาลยุบสภาในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้ในระยะเวลานี้ เกิดข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองว่า จะไปทำอย่างไร อย่างน้อยที่สุดการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ต้องเกิดขึ้นได้ แล้วจากนั้นการยุบสภา คือ การนำเสนอนโยบายแนวคิดของแต่ละกลุ่มให้โยงลงไปสู่สังคม ให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน เช่น ความคลุมเครือของการใช้คำว่า อำมาตย์ก็โยนลง เพื่อให้สังคมได้เป็นผู้ตัดสินจริงๆ

นายอรรถจักร กล่าวอีกว่า ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ก็จะเป็นเกมที่เดินไปไหนไม่ได้ และท้ายที่สุดนำไปสู่ความรุนแรงได้ ส่วนแล้วคิดว่าถ้าหากรัฐบาลมองเห็นอนาคตของสังคมไทยมากกว่าอนาคตพรรคการเมืองตัวเอง หรือ อนาคตของกลุ่มแล้ว รัฐบาลต้องคิดถึงการยุบสภา และทางกลุ่มนักวิชาการก็เสนอทางออกที่รัฐบาลน่าจะพึงพอใจมากกว่า คือ โดยในระยะเวลา 3 เดือนนี้วางพื้นฐานของการเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของทุกกลุ่มการเมือง

ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ โดยรัฐบาลต้องประกาศการยุบสภาภายในระยะเวลา 3 เดือน รัฐสภาต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าให้ แล้วเสร็จภายในห้วงระยะเวลานี้ เพื่อให้เกิดกติกาของการเลือกตั้ง อันเป็นที่ยอมรับได้ในระหว่างนักการเมือง ด้วยกัน พรรคการเมือง ต้องเจรจาเพื่อให้เกิดการยอมรับวิถีทางพื้นฐานของการเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้มีการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองได้อย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งต้องยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปภายใต้ระบบของประชาธิปไตย ไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ใน ขณะนี้ มิใช่เป็นสิ่งที่จะสามารถแก้ไข ได้ด้วยมาตรการอันใดอันหนึ่ง