posttoday

แม่สอดอ่วมหินถล่ม-อุตรดิตถ์คันดินทรุด

07 กันยายน 2555

ฝนตกหนักหินขนาดใหญ่ถล่มทับเส้นทางตาก-แม่สอดตัดขาดโลกภายนอก ขณะที่ อุตรดิตถ์คันดินแม่น้ำน่านทรุดตลอด 4 กม.

ฝนตกหนักหินขนาดใหญ่ถล่มทับเส้นทางตาก-แม่สอดตัดขาดโลกภายนอก ขณะที่ อุตรดิตถ์คันดินแม่น้ำน่านทรุดตลอด 4 กม.

พายุฝนตกหนักติดต่อกันนานหลายวันส่งผลทำให้หลายจังหวัดภาคเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้าโดยเฉพาะอ.แม่สอด จ.ตาก เกิดเหตุดินภูเขาบริเวณถนนสายตาก-แม่สอด หลัก กม.ที่ 56 บ้านห้วยไม้หก ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด  อุ้มน้ำไม่ไหวพังถล่มลงมาปิดถนน และได้มีหินก้อนใหญ่จากภูเขาถล่มทับเส้นทางทำให้การจราจรผ่านไปมาไม่ได้รถยนต์ที่สัญจรผ่านไป-มาต้องจอดติดกันยาวหลายกิโลเมตร
 
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผวจ.ตาก กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด  ประสานงานกับนายวีระชัย ระกล่ำทอง ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด)นำเครื่องจักรเข้าไปเปิดทาง แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากหินและดินจากภูเขาทับถล่มลงมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหินภูเขานั้นก้อนใหญ่มากหนักนับร้อยตันถล่มลงมา อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ดินจะถล่มลงมาอีก  เจ้าหน้าที่แขวงการทางตากที่ 2 ได้พยายามเคลียร์เพื่อเปิดทางให้การสัญจรผ่านไปมาได้ โดยใช้ไหล่ทางเพียงเลนเดียวชั่วคราวรถต้องผลัดใช้เส้นทางระหว่างเข้าและออก ซึ่งต้องรอช่วงสายทางแขวงการทางจะนำเครื่องจักรหนักเข้าทำการเคลียร์เส้นทางอีกครั้ง
 
ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาหลายวันเพราะหินภูเขาที่ถล่มลงมาแต่ละก้อนมีขนาดใหญ่หนักนับสิบตัน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รถยนต์ และยานพาหนะต่างๆ ยังสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติแล้ว แต่สามารถไปมาได้ช่องทางจราจรเดียว ซึ่งการจราจรนั้นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะถนนเส้นนี้มีรถยนต์สัญจรไป-มา จำนวนมากต่อวัน

แม่สอดอ่วมหินถล่ม-อุตรดิตถ์คันดินทรุด


 
ที่จ.อุตรดิตถ์ น้ำได้กัดเซาะคันดินกั้นแม่น้ำน่านตั้งแต่บริเวณ หมู่ที่ 1 และ 2 ต.คุ้งตะเภา อ.เมืองอุตรดิตถ์ ต่อเนื่องจนถึงบ้านปากคลอง หมู่ที่ 2 ต.ป่าเซ่า อ.เมืองอุตรดิตถ์ ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน โดยคันดินดังกล่าวมีความกว้าง 4 เมตร ความยาวราว 4 กิโลเมตร โดยโครงการนี้เป็นการนำดินมาทำเป็นคันริมตลิ่งแม่น้ำน่าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำน่านที่เกิดจากการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ และน้ำจากลำห้วยสาขาไหลมาสมทบกันในแม่น้ำน่านทำให้น้ำล้นตลิ่งแล้วเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.คุ้งตะเภา และ ต.ป่าเซ่า โดยเฉพาะช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปี 2554 ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล ก็ถูกน้ำแม่น้ำน่านท่วมขังบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรเช่นเดียวกัน
 
จากการตรวจสอบพบว่าคันดินดังกล่าวปัจจุบันมีสภาพทรุดตัวลงเป็นช่วงๆโดยเฉพาะบริเวณบ้านปากคลอง หมู่ 2 ต.ป่าเซ่า ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักก็กัดเซาะคันดินยุบตัวลงมาในแม่น้ำน่านจำนวนหลายจุด ซึ่งแต่ละจุดจะลึก และกว้างมากกว่า 1 เมตร แม้ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านยังขึ้นไม่สูงเหมือนกับช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา หากปริมาณน้ำในแม่น้ำนานสูงเหมือนกับปีที่ผ่านมาเกรงว่าน้ำจะกัดเซาะคันดินดังกล่าวทรุดลงในแม่น้ำน่าน จะทำให้แม่น้ำน่านเกิดการตื้นเขิน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็ยิ่งจะทำให้น้ำในแม่น้ำน่านล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนทั้ง 2 ตำบลได้
 
สำหรับคันดินดังกล่าวใช้งบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งเป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจปี 2555 โดยแยกออกเป็น 2 ช่วงคือช่วง ต.คุ้งตะเภา ใช้งบประมาณ 8.54 ล้านบาทเศษ และช่วงที่ 2 คือ ต.ป่าเซ่า งบประมาณ 10 ล้านบาทเศษ 
 
ที่จ.พิษณุโลก น้ำท่วมถนนสายศูนย์ราชการตำบลหัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก ระดับน้ำสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ระยะทางยาวประมาณ 300 เมตร ตั้งแต่หน้าสำนักงานตำรวจท่องเที่ยวพิษณุโลก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อโดยแมลงที่ 2 พิษณุโลก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก และบริเวณหน้าสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 2 พิษณุโลก ทำให้ การสัญจรของประชาชนเป็นไปด้วยความลำบาก ขับรถยนต์และขี่รถจักรยานยนต์ลุยฝ่าน้ำออกไปทำงาน
 
นอกจากนี้ที่บริเวณประตูทางเจ้าสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 2 พิษณุโลก ( สบย.2 ) น้ำที่ท่วมผิวจราจรถนนศูนย์ราชการ ได้ไหลเข้ามาที่สบย.2 ตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ภายในสำนักงานถูกน้ำท่วมขังประมาณ 30 เซนติเมตรเป็นวงกว้าง เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ ช่วยกันนำทราย ถุงดำ มาวางแนวกั้นบริเวณประตูทางเข้าเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้ามามากกว่านี้
 
สาเหตุน้ำท่วมเทศบาลตำบลหัวรอ เนื่องจากมีการขุดร่องระบายน้ำริมถนนศูนย์ราชการ ทำให้น้ำฝนทั้งหมด ไหลลงมาสู่ที่ต่ำ และไหลเข้าท่วมสบย.2 ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เป็นจุดต่ำที่น้ำท่วมประจำ ปี 2554 น้ำจากแม่น้ำน่านที่ล้นตลิ่งก็ท่วมขังบริเวณนี้สูงมาก ขณะนี้น้ำกำลังไหลต่อไปยังยังสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนที่อยู่ติดกัน และไหลลงคลองข้างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ
 
ขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ไหลมาสู่คลองหกบาท อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก  แล้ว ประกอบน้ำจาก จ.สุโขทัย ได้ไหลลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าเข้าพื้นที่ อ.บางระกำ จะส่งผลให้น้ำได้ทะลักเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรแล้วโดยเฉพาะที่บ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก น้ำได้เริ่มเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนกว่า 2,000 ไร่แล้ว
 
นายสมควร รุ่งเรือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้น้ำจากภาคเหนือได้ไหลเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม ต.ชุมสงสงคราม อ.บางระกำและ บ้านแม่ระหัน ต.บ้ากร่าง อ.เมือง พิษณุโลกแล้ว ระดับยังอยู่ที่ประมาณ 50 ซม.โดยคาดว่าในช่วง 2-3 อาทิตย์นี้ น้ำก็จะท่วมทุ่งเห็นเป็นขาวโผน พื้นที่น้ำท่วมคาดว่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่อย่างแน่นอน เนื่องจากน้ำเหนือมีปริมาณมาก แต่ก็ไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งอย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำต้องท่วมอยู่แล้วเหมือนทุกปี เนื่องจากน้ำจะไหลลงสู่ภาคกลางนั้นจะต้องมาพักและรวมอยู่ที่ อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ส่งผลให้น้ำต้องท่วมทุกปี  ซึ่งก็จะทำให้ชาวบ้านต่างออกหาปลา เพื่อเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

ด้าน นายสิทธิชัย  แก้วประสิทธิ์     อายุ 32 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 235  หมู่ 11  ต.หนองพระ  อ.วังทอง  จ.พิษณุโลก  ชาวนาอำเภอวังทอง  เปิดเผยว่า ตนเองทำนาจำนวน 13 ไร่ ซึ่งอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์  ข้าวจึงจะถึงอายุเก็บเกี่ยว  แต่ปรากฏว่า ในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา  มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้นาข้าวของตนเองขณะนี้กำลังประสบปัญหาน้ำจากเทือกเขา  ไหลเข้าท่วมนาข้าวที่อายุใกล้เก็บเกี่ยว  ทำให้ต้องเร่งจ้างรถเกี่ยวข้าวมาทำการเกี่ยวข้าวหนีน้ำ  ก่อนที่ต้นข้าวจะจมน้ำเสียหายทั้งหมด