posttoday

สปต.ชูโมเดลฟิลิปปินส์ดับไฟใต้

15 สิงหาคม 2555

สปต.เสนอนำโมเดลความมั่นคงฟิลิปปินส์ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ“โมโร”ดับไฟใต้

สปต.เสนอนำโมเดลความมั่นคงฟิลิปปินส์ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ“โมโร”ดับไฟใต้

แหล่งข่าวสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เปิดเผยว่า  นายอาซิส  เบ็ญหาวัน ประธาน สปต. เป็นประธานประชุมเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอรายละเอียดในส่วนโครงการกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน  โดยทาง สปต.และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ได้เดินทางไปศึกษาได้ความรู้ ความเข้าใจถึงรูปแบบและการบริหารจัดการประเทศของประเทศฟิลิปปินส์  ที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์เกี่ยวกับด้านความมั่นคงระหว่างความขัดแย้งชาวมุสลิมในมินดาเนา กับรัฐบาลฟิลิปปินส์  ที่ได้สั่งสมปัญญามาตั้งแต่ประมาณปี  2493
 
แหล่งข่าว เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมระบุว่าปัญหาประเทศฟิลิปปินส์ คือ การจัดตั้งรัฐมุสลิมอิสระแยกจากฟิลิปปินส์  จนเกิดกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร ต้องการแยกดินแดนภาคใต้เป็นรัฐมุสลิมอิสระ   กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่แยกตัวออกมา  เมื่อปี 2524  ไม่พอใจท่าที่ประนีประนอม และการจัดทำความตกลงกับรัฐบาลฟิลิปปินส์  กลุ่มอาบูซายาฟ  กลุ่มผู้ก่อการร้าย ทำร้ายประชาชน ลักพาตัวชาวต่างประเทศ ชาวฟิลิปปินส์ เรียกค่าไถ่  โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มเจไอในอินโดนีเซีย  กลุ่มกองกำลังประชาชนใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มข่มขู่คุกคามขูดรีดเงิน ก่อกวนให้เกิดความวุ่นวาย มีเป้าหมายหน่วยความมั่นคง กลุ่มตระกูลและกลุ่มอิทธิพลต่างๆที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ แบ่งฝ่ายในแต่ละท้องถิ่น ผลจากศัตรูทางการเมือง เศรษฐกิจ และแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และกลุ่มผิดกฎหมายที่ถืออาวุธ เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ ค้ายาเสพติด และมือปืนรับจ้าง
 
“ในการแก้ไข รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเฉพาะกับกลุ่ม  ตามแนวทางสันติวิธีด้วยการเจรจาไม่ใช้ความรุนแรง เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน   จัดทำข้อตกลงปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล  จนมีผลทำให้สถานการณ์เหตุความรุนแรงได้ลดลง  รูปแบบการเจรจาของรัฐบาลฟิลิปปินส์ และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร ที่มีประเทศมาเลเซีย เป็นฝ่ายเลขานุการ และผู้ประสานงานในระหว่างการเจรจา จนเกิดเป็นข้อตกลงร่วมกับของทั้ง 2  ฝ่าย” แหล่งข่าวระบุ
 
ทั้งนี้ปัญหาที่นำไปสู่การแก้ไขที่ได้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ความชัดเจนของรัฐบาล ถือว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ มีความเข้าใจ โดยการแสวงความร่วมมือของทั้ 2 ฝ่าย ยึดหลักการเจรจา และการทำข้อตกลง โดยมีคนกลางในการประสานการเจรจา และมีประเทศต่าง ๆ ร่วมในการเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ ทำให้ปัญหาในระดับนี้น่าพอใจ จนทำให้สถานการณ์มีการคลี่คลายไปในทางที่ดี  เหตุการณ์ความรุนแรงลดน้อยลงจนมีแนวโน้มที่ดี  โดยแนวทางดังกล่าวอาจจะนำมาปรับได้บ้างในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ต้องทำให้แสดงความชัดเจนให้ได้ว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกลุ่มใดบ้าง และแต่ละกลุ่มมีความต้องการหรือข้อเรียกร้องประการใดที่จะสามารถนำมาพูดคุยหรืออาจจะดำเนินการทางการเจรจาได้