posttoday

โวยโรงเรียนกทม.เรียกเก็บเงินค่าอาหาร-นมเด็ก

17 มีนาคม 2553

ผู้ปกครองโวยโรงเรียนกทม.เรียกเก็บเงินค่าอาหาร-นมเด็ก ด้านรองผู้ว่าฯสั่งตรวจสอบหาข้อมูลเอาผิด

ผู้ปกครองโวยโรงเรียนกทม.เรียกเก็บเงินค่าอาหาร-นมเด็ก ด้านรองผู้ว่าฯสั่งตรวจสอบหาข้อมูลเอาผิด

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร(สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 7 โดยการประชุมดังกล่าวมีระเบียบวาระที่น่าสนใจ ญัตติของนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา สก.เขตคลองเตย ขอให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) สนับสนุนให้ค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารเสริม(นม) แก่เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ กทม. ที่อายุ 6-7 ปี

นางกรณิศ กล่าว ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่เขตคลองเตยว่าขณะนี้ทางสำนักงานเขตคลองเตยได้เรียกเงินค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารเสริม ที่ได้จ่ายให้กับเด็กที่อายุ 6-7 ปี เป็นเงินจำนวน กว่า 1.7 แสนบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 และ 2552 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามข้อปฏิบัติในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่กทม.ต้องเป็นผู้ดูแลเด็กในพื้นที่

โวยโรงเรียนกทม.เรียกเก็บเงินค่าอาหาร-นมเด็ก

นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องมีการแบ่งอาหาร และอาหารเสริม ให้กับเพื่อนนักเรียนที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวด้วย ซึ่งตนกังวลว่าจะให้เด็กเล็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และกระทบต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมอง
ด้านนายสมชาย เวสารัชตระกูล สก.เขตสายไหม กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนในพื้นที่เขตสายไหมจำนวนกว่า 9 แห่ง ร้องเรียนกับตนเรื่องเดียวกัน คือ โรงเรียนสังกัด กทม.เรียกเงินค่าบำรุงการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียนสารพัด นอกจากนั้นแล้ว ในศูนย์เด็กเล็กยังมีการเก็บเงินเด็กค่าเลี้ยงดู 1,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งค่าอาหารกลางวันอีกวันละ 20 บาทด้วย

“ทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่มักจะอยู่ตามชุมชนนั้นยังมีปัญหาขัดแย้งกันในชุมชนเพราะมีคณะกรรมการและประธานชุมชนบางแห่งแย่งกันเป็นประธานศูนย์ ซึ่งอาจจะมีผลประโยชน์จากเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานเขตสายไหมได้เคยส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.แล้วแต่เรื่องกลับเงียบหายไป  จึงขอให้ผู้บริหาร กทม. โยเฉพาะนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะดูแลรับผิดชอบสำนักการศึกษาดูและเรื่องนี้เพื่อแก้ไขโดยด่วน” นายสมชาย กล่าว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหลักการของกทม.ที่ต้องดูแลเด็ก การเรียกเก็บเงินคืนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของผู้ปฏิบัติงานด้วย สำคัญที่สุดกทม.ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542โดยไม่มีการขีดเส้นการดูแลเด็ก

นางทยา กล่าวว่า กทม.ได้ยกเลิกการเรียกคืนเงินค่าอาหาร และนม จำนวน 1.7 แสนบาท และทั้ง 319 ศูนย์ใน 47 เขตของ กทม. เนื่องจากว่าได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมกับคณะทำงานด้านกฎหมายด้านการพัฒนาชุมชน และพิจารณาว่าตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2546 ระบุว่าการสนับสนุนพัฒนาชุมชนนั้น ได้จัดสรรงบประมาณให้กับเด็กในศูนย์ก่อนวัยเรียน คนละ 15 บาทต่อวัน โดยไม่มีการระบุอายุ 

ส่วนการแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวนั้นขณะนี้สำนักพัฒนาสังคม กทม. ได้หารือร่วมกับคณะทำงานด้านกฎหมาย ถึงประเด็นการแก้ไขข้อบัญญัติกทม. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นจะเร่งแก้ไขข้อบัญญัติให้ทันก่อนที่จะมีการพิจารณางบประมาณปี 2554 กรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการเก็บค้าบำรุงการศึกษาจำนวนมากของโรงเรียน กทม. นั้นเพิ่งได้รับเอกสารร้องเรียน และจะต้องสั่งการไปที่ สนศ. เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบว่ามีหลักฐานชัดเจนหากมีหลักฐานสามารถเอาผิดได้ จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการร้องเรียนมายังสื่อมวลชนถึงการทำผ้าป่าอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการโดยสมาคมผู้ปกครอง ขึ้นมาโดยประธานมีการบังคับให้ประธานตั้งบริจาควงเงินเท่าไหร่ กรรมการตั้งริจาควงเงินเท่าไหร่ เป็นต้น ซึ่งได้สอบถามไปยัง นายอรรถพร สุวัธนเดชา ผอ.สนศ. ชี้แจงว่ากรณีดังกล่าวถ้าเป็นสมาคมฯผู้ปกครองทำกันเองสามารถทำได้ แต่หากเป็นบุคลากรของโรงเรียนนั้นไม่สามารถทำได้และมีความผิดด้วย