posttoday

น้ำท่วมเทศบาลน่านยังน่าห่วง

10 สิงหาคม 2555

น้ำท่วมเทศบาลเมืองน่านยังน่าเป็นห่วง เร่งป้องกันเขตเศรษฐกิจ

น้ำท่วมเทศบาลเมืองน่านยังน่าเป็นห่วง เร่งป้องกันเขตเศรษฐกิจ

สถานการณ์น้ำในจังหวัดน่านยังน่าห่วง  โดยระดับน้ำในแม่น้ำน่านได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยชั่วโมงละ 20 เซนติเมตร ที่บริเวณสถานีวัดระดับน้ำ N 1 เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ กาดแลงฝั่งเขตเทศบาลเมืองน่าน โดยเมื่อเวลา 15.00 น. จุดวัดระดับน้ำ N 64 (ผาขวาง) 5.48 ม. และที่ N1 (กาดแลง อ.เมือง) 6.32 ม. ซึ่งจุดวิกฤตอยู่ที่ 7 เมตร ทำให้ประชาชนแตกตื่นพากันไปดูน้ำที่บริเวณริมน้ำเป็นจำนวนมาก
 
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เร่งสูบน้ำออกจากเขตเทศบาลเมืองน่านโดยด่วน โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้ายังเขตเศรษฐกิจใจกลางเมือง ขณะที่ชุมชนที่อยู่ริมน้ำน่านซึ่งถูกน้ำท่วมซ้ำซากก็ได้เตรียมขนของมีค่าขึ้นยังที่ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ต้องประเมินสถานการณ์ทุกระยะเนื่องจากทางตอนเหนือตัวจังหวัดยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในป่า ซึ่งไม่มีอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำได้  เบื้องต้นได้สั่งปิดประตูระบายน้ำทุกบานจำนวน 11 บาน และเร่งระบายน้ำออก หากไม่สูบน้ำออกช่วงนี้น้ำจะเข้าท่วมในชุมชนสูงถึงกว่า 30 เซนติเมตร แต่เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ 3 เครื่องยังไม่เพียงพอหากน้ำยังขึ้นเรื่อย  จึงจะประสานกับชลประทานจังหวัดและ ปภ.น่านขอเครื่องสูบน้ำมาเพิ่มอีก 
 
ด้านนายนิเวศน์  พูลสวัสดิ์ นายอำเภอท่าวังผา กล่าวว่า ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าหลาก  น้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ต.ริม อ.ท่าวังผา  ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำที่สุดและเป็นพื้นที่รับน้ำของอำเภอท่าวังผา  หลังมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันและปริมาณน้ำแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขาต่างๆ เพิ่มปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเสี่ยงสำคัญคือแนวคันริมน้ำน่าน  บ้านนาเตา  ต.ริม ซึ่งเป็นแนวคันดินความสูง 5 เมตร กั้นริมแม่น้ำน่านกับชุมชนบ้านนาเตา   ซึ่งปี 2549 น้ำท่วมใหญ่ของจังหวัดน่าน พบว่าปริมาณน้ำสูงกว่าคันดินถึง 3 เมตร และเข้าท่วมชุมชนหลังคันดินทั้งหมด   โดยหากทำแนวคันกั้นน้ำ ขยายหน้ากว้าง 8 เมตร และเพิ่มสูงขึ้นอีก 3 เมตร รวมเป็น 8 เมตร  ก็จะสามารถป้องกันภัยน้ำท่วมชุมชนหลังแนวคันดินได้ 4 หมู่บ้าน คือบ้านนาเตา  บ้านป่าไคร้  บ้านท่าค้ำ 1 และ  บ้านท่าค้ำ 2  ได้  นอกจากนี้ยังมีสะพานคอนกรีตเสริมข้ามลำน้ำริม บ้านเชียงแล หมู่ 6   ซึ่งมีสภาพเสียหายหนักตั้งแต่เกิดอุทกภัยปี 2554 จากอิทธิพลของพายุนกเต็น   ทำให้โครงสร้างสะพานทรุดตัว จนชาวบ้านไม่มั่นใจที่จะใช้ข้ามเนื่องจากเกรงว่าสะพานจะรับน้ำหนักไม่ไหวและพังลง ทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
 
ขณะที่นายเอกกฤติ จิตตางกูร รักษาราชการแทน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกระยะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณน้ำทางอำเภอตอนเหนือของจังหวัดน่านซึ่งมีฝนตกในป่าเขาอย่างต่อเนื่อง   อย่างไรก็ตาม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ได้มีการแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับระดับน้ำ โดยมีเกณฑ์การเตือนภัยปริมาณน้ำฝน ที่มีความเสี่ยง ตามลำดับ ได้แก่ อ.เชียงกลาง ระดับปกติ  อ.ท่าวังผา อ.เมืองน่าน –และอำเภอเวียงสา อยู่ในเกณฑ์เฝ้าติดตามสถานการณ์  ขณะที่หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่าน ถึง กว่า 600 หมู่บ้าน ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ได้แจ้งผ่านหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งประชาชนที่อาศัยที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ เอกสารสำคัญ ไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด โดยให้ติดตามความเคลื่อนไหวและประสานงานกับ ปภ.น่าน และติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

 

น้ำท่วมเทศบาลน่านยังน่าห่วง น้ำท่วมเทศบาลน่านยังน่าห่วง