posttoday

ชาวบ้านกาญจน์ค้านตั้งโรงงานหลอมทองแดง

04 สิงหาคม 2555

ชาวบ้าน ต.สระลงเรือ เมืองกาญจน์ค้านตั้งโรงงานหลอมทองแดงทองเหลืองหวั่นมลพิษ

ชาวบ้าน ต.สระลงเรือ เมืองกาญจน์ค้านตั้งโรงงานหลอมทองแดงทองเหลืองหวั่นมลพิษ

ชาวบ้านกาญจน์ค้านตั้งโรงงานหลอมทองแดง

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ศาลาประชาคมบ้านห้วยลึก หมู่6 ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ได้มีชาวบ้านหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลสระลงเรือ กว่า 300 คน นำโดย นายอนุชา สุขเชิงชาย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสระลงเรือ นายระเบียบ ประทุมสูตร กำนันตำบลสระลงเรือ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ได้ร่วมทำประชาคม หลัง บริษัท ไทย-จีน ทองแดง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการหลอมโลหะทองแดง ทองเหลือง เพื่อนำมาประกอบเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.สระลงเรือ โดยมี นายอำนวย ศุภวราพงษ์ ตัวแทนโรงงาน ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจ

ทั้งนี้บรรยากาศการทำประชาคมเป็นไปด้วยความตึงเครียด มีการซักถามและโต้เถียงประเด็นเรื่องของผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง รวมทั้งน้ำเสีย โดยเฉพาะผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งในที่สุดชาวบ้านก็ไม่ยินยอมพร้อมกับยืนยันคัดค้านการตั้งโรงงานดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

นายสุทิน พรหมเจดีย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ซึ่งมีเขตติดต่อกับหมู่ 6 ที่ตั้งโรงงาน กล่าวว่า พื้นที่ตั้งโรงงานตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา และห่างจากชุมชนประมาณ 1-2 กม. เท่านั้น ประกอบกับชาวบ้านหมู่6 ใช้น้ำประปาผิวดิน ขณะเดียวกัน ต.สระลงเรือ มีสภาพพื้นดินเป็นดินทราย และในทุกๆ ปีจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก พัดผ่านพื้นที่หมู่6 มายังหมู่5 ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่า ดังนั้นจากสภาพพื้นที่และองค์ประกอบดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบได้ง่าย รวดเร็ว และรุนแรง

ขณะเดียวกันชาวบ้านไม่มั่นใจในมาตรการ ระบบการควบคุม และกำจัดของเสียจากการผลิตของโรงงาน ซึ่งอาจเกิดการรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงงาน ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ จึงหวั่นวิตกในเรื่องของสุขภาพในระยะยาว ทำให้ไม่เห็นด้วยที่โรงงานจะมาตั้งในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน 

ด้าน นายอนุชา เผยว่า การทำประชาคมดังกล่าว สืบเนื่องจากบริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องราวคำรอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ไว้ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจึงประกาศให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับสถานที่ที่ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวแสดงความคิดเห็นและข้อโต้แย้งพร้อมเหตุผลได้ภายใน 15 วัน ก่อนการอนุญาต

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้รับทราบมาก่อน และทางบริษัทฯ ก็ไม่ได้แจ้งให้ท้องที่ทราบ จึงเกิดการต่อต้านของชาวบ้านเกิดขึ้น ซึ่งชาวบ้านหวั่นวิตกอย่างมากในเรื่องของผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต ที่อาจเกิดมลพิษทางน้ำและมลพิษทางอากาศจากการประกอบกิจการของโรงงาน เหมือนเช่นที่เกิดในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ

อย่างไรก็ตามการทำประชาคมในครั้งต่อไปตนได้เสนอให้มีการประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข มาทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง จึงจะสรุปผลการประชุมพิจารณาว่าจะให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวหรือไม่