posttoday

แจงพระราม4ทรุดเหตุน้ำรั่วเซาะทรายหาย

04 เมษายน 2555

วิศวกรรมสถานฯ เผย ฟุตบาทพระราม3 ยุบ เหตุ กำแพงที่กั้นคันดินริมถนนเก่า ส่วน ถนนพระราม4 ยุบตัว เกิดจากน้ำรั่วเซาะทรายใต้ดินหาย

วิศวกรรมสถานฯ เผยฟุตบาทพระราม3 ยุบ เหตุ กำแพงที่กั้นคันดินริมถนนเก่า ส่วน ถนนพระราม4 ยุบตัว เกิดจากน้ำรั่วเซาะทรายใต้ดินหาย  

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี สมาคมวิศวกรรมสถานแถลงถึงเหตุถ.พระราม4 บริเวณแยกวิทยุยุบตัวเมื่อวันที่18มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุโดยละเอียดพบว่าจุดที่เกิดเหตุมีท่อและอุโมค์รถไฟฟ้าใต้ดินรวม13ท่อ รวมทั้งของการประปานครหลวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง1.2ม. วางอยู่เหนือท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ของกทม.กว้าง2.4ม.ลึก2.7ม. และก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ ทางการประปานครหลวงได้มีการเปิดพื้นถนนเพื่อทำการยกท่อประปาข้ามท่อระบายน้ำดังกล่าว

นอกจากนั้นจากการตรวจสอบยังพบท่อจ่ายน้ำประปาอีก3ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง40,50,80ซม. อยู่เหนือท่อประธานอีกด้วย ซึ่งทางสมาคมวิศวกรรมสถานฯระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการยุบตัวในครั้งนี้เกิดจากน้ำรั่วแล้วทำให้ทรายที่อยู่ใต้ดินหายไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่มาของน้ำได้ แต่น่าจะมาจาก3กรณี คือน้ำจากท่อประปา แต่ไม่ใช่จากท่อประธานขนาดใหญ่ เพราะจากการสำรวจแล้วไม่พบการรั่ว รวมทั้งท่อประธานทำจากเหล็กที่มีความเหนียวมากถึง2ชั้น

กรณีที่2 อาจมาจากน้ำที่ท่อระบายน้ำจากข้างถนนรั่วซึมเข้ามาใต้ดิน และกรณีที่3 อาจเกิดจากน้ำฝนที่รั่วซึมลงไปชะล้างทรายด้านล่าง ส่วนทรายที่หายไปคาดว่าอาจจะไหลลงไปในท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่กทม.สร้างขึ้นอยู่กลางถนน หรือการก่อสร้างซ่อมแซมครั้งก่อนมีการถมทรายไม่แน่นพอ เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ทรายอัดแน่นไปจนเกิดโพรงและทำให้ถนนยุบตัวเมื่อมีรถที่มีน้ำหนักมากวิ่งผ่าน ซึ่งทั้ง3กรณีนี้ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่าจะต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะเกิดเหตุการณ์นี้ได้

ส่วนการตรวจสอบการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินจากการตรวจสอบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินีที่ลึกลงไปกว่า20เมตร โดยตัวสถานีรถไฟฟ้าจะมีแผ่นคอนกรีตปรับการทรุดตัวหรือ แผ่นทรานซิชั่น สแล๊บ กั้นอยู่เพื่อป้องกันการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าใต้แผ่นทรานซิชั่น สแล๊บ
ซึ่งตัวสถานีรถไฟฟ้า มีโพรงช่องว่างอยู่ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างระเอียด แต่เบื้องต้นไม่เกี่ยวข้องกับการทรุดตัวในครั้งนี้

ส่วนการสูบน้ำบาดาลเมื่อประมาณ20ปีที่แล้วมีการสูบน้ำมาใช้จนทำให้พื้นดินยุบประมาณ20ซม. ปี แต่ปัจจุบันได้มีการควบคุมการสูบน้ำบาดาลเพื่อการอุตสาหกรรมทำให้พื้นดินยุบเพียง1-2ซม.ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในเวลา14.00น.ทางสภาวิศวกรรมฯจะเรียก กทม.,การประปานครหลวง,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมเพื่อเสนอให้ทั้ง3หน่วยงานพิจารณาตรวจสอบท่อและอุโมงค์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง, ขอทราบข้อมูลจากรฟม.ถึงการทรุดตัวของพื้นดินตามแนวอุโมงค์ด้านที่เกิดเหตุและด้านข้างสถานีลุมพินี, ขอให้รฟม.และกปน.ร่วมกันตรวจสอบประวัติการแตกและรั่วซึ่มของท่อน้ำ และให้กปน.ยืนยันสภาพการใช้งานของท่อประปาจำนวน3ท่อที่ตรวจพบเจอ

รวมทั้งจะเสนอให้ทางกทม.เปิดผิวการจราจรในพื้นที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของการยุบตัวในครั้งนี้ และให้มีการจำกัดน้ำหนักของรถบรรทุกที่วิ่งตามแนวถ.พระราม4ด้วย

ส่วนกรณีฟุตบาธริมถ.พระราม 3 บริเวณซ.23 ทรุดตัวเมื่อวานนี้( 3 เม.ย.) จากการตรวจสอบพบว่ากำแพงที่กั้นคันดินริมถนนพัง เนื่องจากมีอายุประมาณ30ปีโดยไม่มีการบำรุงรักษา และมีการเสริมทางเท้าใหม่ขึ้นอีก40ซม. รวมทั้งใต้ดินมีท่อประปาอยู่ด้วย และอาจมีการรั่วซึมของน้ำจนทำให้ดินสไลด์ลงไปในคลอง เบื้องต้นทางสภาวิศวกรรมได้แนะนำให้นำเหล็กชีทพาย มากั้นไว้ริมคลองเพื่อป้องกันการสไลด์ตัวของดินในบริเวณดังกล่าว

ด้าน นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วศท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทุกหน่วยงานเห็นชอบให้มีการเปิดผิวจราจรของถนนพระราม 4 ที่เกิดการทรุดตัว เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง โดยจะเริ่มดำเนินการหลังเทศกาลสงกรานต์ และในสัปดาห์หน้าจะเชิญตำรวจจราจรมาร่วมหารือด้วย

“แผนการขุดผิวจราจรเบื้องต้นจะขุดเจาะในเวลากลางคืน ส่วนช่วงกลางวันจะนำแผ่นชีตพายมาปิดทับไว้เพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรได้ตามปกติ” นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดน้ำหนักรถที่จะวิ่งบนถนนพระราม 4 เพราะพื้นผิวถนนมีความแข็งแรงอยู่แล้ว และได้มอบหมายให้ กทม.ไปสำรวจพื้นที่ที่เสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะจุดที่มีการพาดผ่านของท่อสาธารณูปโภคในแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน