posttoday

ชาวบางกระดีวอนรัฐเร่งฟื้นฟูอาชีพ

06 พฤศจิกายน 2554

ชาวบางกระดีวอนรัฐเร่งฟื้นฟูอาชีพ หลังน้ำท่วมนิคมฯทำตกงานอื้อ ระบุหลายคนยังมีภาระต้องผ่อนบ้านกับธกส.

ชาวบางกระดีวอนรัฐเร่งฟื้นฟูอาชีพ หลังน้ำท่วมนิคมฯทำตกงานอื้อ ระบุหลายคนยังมีภาระต้องผ่อนบ้านกับธกส.

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับบริษัท ลอรีอัล เดินทางเข้าพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมชุมชนวัดบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อให้การรักษาและผู้ประสบภัยที่เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

โดยประชาชนผู้ประสบภัยต่างเดินทางมาพบแพทย์เป็นจำนวนมาก เนื่องจาก ชุมชนบางกะดี เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมาเป็นเวลานานร่วมเดือน สถานการณ์น้ำท่วมได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน กว่า 17 ชุมชน 5 หมู่บ้าน จำนวนกว่า  1 หมื่นคน

น.ส.โยษิตา ธรรมา อายุ 33 ปี ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดหมู่บ้านเอื้ออาทรบางกะดี ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ในพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังต่อเนื่อง โดยมีระดับน้ำสูงราว 40 ซม.ราวครึ่งหน้าแข้ง ทำให้การเดินทางต้องใช้เรือจ้างเพียงอย่างเดียว และชาวบ้านหลายคนต้องเดินลุยน้ำเพื่อไปทำธุระส่วนตัว ส่งผลให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากต้องมีอาการน้ำกัดเท้า

ทั้งนี้หมู่บ้านเอื้ออาทรติวานนท์มีผู้อยู่อาศัยกว่าพันครัวเรือน โดยหลังจากที่เกิดน้ำท่วมก็ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งอพยพออกไปแต่ก็ยังคงมีผู้อาศัยอยู่ในชุมชน 625 ครัวเรือน

“วันแรกที่น้ำเข้ามาที่นี่คือวันที่ 21 ต.ค.54 น้ำสูงราว 60-80 ซม. วันนี้น้ำลดไปราว 20 ซม.ก็พออยู่กันได้สบายขึ้น แต่ที่เห็นคนอยู่กันเยอะๆ ไม่ต้องอพยพแบบนี้ นิติบุคคลกล้าพูดเลยนะคะว่าเราเตรียมตัววางแผนรับสถานการณ์กันอย่างตื่นตัวเต็มที่ ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ น้ำ ไฟฟ้า ถ้ามี 2 ปัจจัยนี้คนอยู่บนตึกก็พออยู่กันได้ถ้าน้ำระดับประมาณนี้ ส่วนชั้นล่างจำเป็นก็ต้องย้ายแต่ก็มีการวางแผนยาปูนปิดท่อ น้ำเข้าวันแรก ชั้นล่างโดนมากหน่อยค่ะ 1 คืบแต่ถ้าบ้านไหนเตรียมตัวกั้นน้ำดีๆ น้ำก็ไม่สูงไปกว่านี้”  น.ส.โยษิตา กล่าว

มาตรการรับน้ำ ข้อที่ 1 ผู้จัดการนิติบุคคล เผยว่าติดต่อไปทางการไฟฟ้าขอให้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้เรื่องการยกระดับมิเตอร์ที่ถูกต้อง โดยจัดเตรียมงานซึ่งเป็นลูกบ้านไว้ 5 ทีมๆ ละ 8 คนเรียนรู้กับการไฟฟ้าเพื่อเผยแพร่สู่เพื่อนบ้านอีกทอดหนึ่ง

มาตรการรับน้ำ ข้อที่ 2 คือ น้ำประปา ซึ่งเริ่มวิกฤตทันทีเมื่อน้ำสูงขึ้นถึงเครื่องปั๊มน้ำในตึก มีการจัดลูกบ้านให้อยู่เวรดูแลทุกๆ ตึก 37 ตึก 37 ทีม

วอนรัฐบาลช่วยฟื้นฟู “สาวโรงงาน”

น.ส.โยษิตากล่าวอีกว่า จากการสำรวจประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมบางกะดี รายได้สูงสุดครอบครัวละ 3 หมื่นบาท ซึ่งวันนี้เรื่องช่วยเหลือเร่งด่วนไม่ได้ต้องการมากเท่ากับอยากรู้เรื่องการช่วยเหลือฟื้นฟูจากภาครัฐ โดยเฉพาะ 3 เรื่องที่ต้องการให้ช่วยคือ ค่าผ่อนบ้านกับ ธกส. เดือนละ 3,300 บาทต่อห้อง และค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลผ่อนผันหรือจ่ายให้น้อยกว่านี้ก็ถือเป็นข่าวดีหลังข่าวร้ายผ่านพ้นไป

"ตอนนี้ก็ไม่มีงาน พวกผู้ชายก็ไปหารับจ้างก่ออิฐบล็อกที่มาขายแถวแยกสวนสมเด็จ และทางเข้าเมืองทองธานี ไปกรอกทรายถุงได้วันละ 300-400 บาท แต่ก็มีงานให้ทำแค่ 5-6 คนเท่านั้น เรื่องว่างงานจึงเป็นเรื่องเครียดที่สุดเลยค่ะ"น.ส.โยษิตากล่าว

ด้าน นายศิวกร สุมาลี รักษาการประธานสหกรณ์บริการบ้านเอื้ออาทรติวานนท์ กล่าวว่าเรื่องที่ต้องฟื้นฟูเร่งด่วน คือน้ำเน่า เพราะน้ำที่นี่เป็นน้ำท่วมขังมานานกว่า 1 เดือนแล้ว และการใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม ก็ใช้ได้ผลดีพอสมควร กลิ่นน้ำเหม็นลดน้อยลง

“คาดการณ์ว่าน้ำจะขังอีกราว 1 เดือน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้น้ำลดไปเกือบ 20 ซม. ก็ต้องเริ่มคิดถึงการกู้น้ำให้ลดเรื่อยๆ โดยเป็นระบบท่อต้นแบบที่เรียกว่า ท่อพญานาค เมื่อดูดน้ำทิ้งได้ผลคนก็จะเดินไปไหนมาไหนได้สะดวกซึ่งตั้งงบไว้ว่าจะใช้เงินราว 1 แสนบาทพร้อมทำสนามหญ้าขึ้นมาใหม่”  นายศิวกร กล่าว

ชาวบ้านโวยจ่าย “ค่ารถ-ค่าเรือ” ไม่ไหวแล้ว

น้ำที่ท่วมขังในหมู่บ้านเอื้ออาทรบางกะดี ทำให้เกิดอาชีพใหม่คือวินเรือพายรับจ้าง ซึ่งผู้พายรับจ้างส่วนใหญ่ก็เป็นลูกบ้านที่ว่างงาน นายศิริศักดิ์ ยิ่งตระกูล บอกว่าก่อนน้ำท่วมทำงานเป็น รปภ.ในโรงงานซึ่งตอนนี้ไม่มีงานให้ทำแล้ว เงินเดือนก็ไม่ได้ไปทันทีด้วย โชคดีมีเรือพลาสติกที่ซื้อไว้นานแล้ว นั่งได้ 4-5 คนจึงนำมาพายรับจ้างเที่ยวละ 10 บาท/คน ตั้งแต่เช้าจนบ่ายก็ยังไม่ได้พักกินข้าว วันนี้คนเยอะมาก รายได้ประมาณวันละ 500-600 บาท

ที่นี่มีกฎระเบียบเรือจ้างโดยมีอาสาดูแลหมู่บ้านควบคุมค่าโดยสารในหมู่บ้านเอื้ออาทรฯ ราคา 10บาท/คน โดยสารจากบ้านเอื้อฯไปสะพานด้านหน้าหมู่บ้านที่มีเต็นท์ปรุงข้าวกล่อง ของชมรมรักษ์อ่าวไทย จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์  และไปที่ตลาดปู่โพธิ์ ราคา 20บาท/คน ซึ่งผู้ขับเรือโดยสารมีการลงทะเบียนไว้จะได้รับธงสัญลักษณ์ประจำเรือ วิ่งรับส่งตามตึกต่างๆ ส่วนเรือโดยสารภายนอก วิ่งเข้า-ออกได้ในเวลา 06.00-18.00 น.

น.ส.ปริญดา รุ่งสว่าง อายุ 42 ปี บอกว่าพอรู้ว่ามีหมอมาตรวจก็รีบนั่งเรือจ้างมา ไป-กลับค่าเรือ 20 บาท ซึ่งถ้าน้ำไม่ท่วมก็คงเดินมาสบายๆ ไม่ต้องเสียเงิน แต่ที่ลำบากกว่านี้คือตนย้ายหนีน้ำท่วมจากหมู่บ้านสินธร รังสิต ซึ่งน้ำท่วมถึงคอแล้ว จึงย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่นี่เพราะน้ำไม่สูงพออยู่ได้ แต่พอจะเดินทางกลับไปดูบ้านเพราะแถวนั้นเริ่มมีขโมยเยอะ แต่ก็ไม่สามารถเดินทางไปได้เพราะสู้ค่าเรือเที่ยวละ 800 บาทไม่ไหว

“ก็ต้องทำให้ปล่อยบ้านรังสิต ขโมยจะขึ้นบ้านก็ทำใจ น้องสาวอีกคนทำร้านเสริมสวยที่รังสิตก็ต้องย้ายมาอยู่ที่นี่เหมือนกัน เมื่อวานไปดูร้านว่าน้ำขึ้นแค่ไหน ขากลับต้องไปขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ตรงโทลล์เวย์ลงหลักสี่ คิดค่ารถ 1,000 บาท ก็ไม่มีเงินนะ ก็เลยเลือกเดินไปเรื่อยๆ รอรถทหาร 2 ชม.ก็ยังไม่มาแต่ก็เข้าใจนะว่าทหารยุ่งมากๆ เรื่องเดินทางลำบากที่ท้อใจเลย”  น.ส.ปริญดา เล่า