posttoday

พ่อค้าแม่ค้าแนะคุมหมูเป็นแก้ราคาแพง

06 สิงหาคม 2554

พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูแนะกระทรวงพาณิชย์ไปคุม "ราคาหมูเป็น" ให้อยู่ในราคา กก.80 บาทแก้ปัญหาหมูแพง

พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูแนะกระทรวงพาณิชย์ไปคุม "ราคาหมูเป็น" ให้อยู่ในราคา กก.80 บาทแก้ปัญหาหมูแพง

นายไมตรี  อินทุสุต ผวจ.ตรัง พร้อมด้วย นายสุภาพ จีนเมือง การค้าภายในจังหวัดตรัง  ออกสำรวจราคาเนื้อหมูที่ตลาดสดเทศบาลนครตรัง ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง   หลังจากที่ราคาเนื้อหมูพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายใน ได้ออกประกาศควบคุมราคาเนื้อหมูในเขตภาคใต้ ไม่เกินกิโลกรัมละ 162 บาท  ขณะที่บรรดาพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงประชาชน ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า  ในช่วงนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นเกือบทุกชนิด
 
ทั้งนี้ ราคาเนื้อหมูที่หน้าเขียงในตลาดสดเทศบาลนครตรัง พบว่า  หมูเนื้อแดง และหมูสามชั้น ราคากิโลกรัมละ 150 บาท  และบางรายไม่ยอมขึ้นป้ายราคาสินค้า  หรือขึ้นป้ายราคาเกินกว่าความเป็นจริง   ซึ่ง ผวจ.ตรัง ได้แนะนำให้ติดป้ายราคา และให้ขายตามความเป็นจริง  เพราะบางรายขึ้นป้ายกิโลกรัมละ 160 บาท  แต่หลังจากสอบถามจะบอกว่า ขายราคากิโลกรัมละ 150 บาท  และบางรายไม่ขึ้นป้ายราคา โดยอ้างว่าเป็นเพราะราคาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงดำเนินการไม่ทัน
 
นายสุภาพ จีนเมือง การค้าภายในจังหวัดตรัง กล่าวว่า  ขณะนี้การค้าภายใน ได้นำหมูราคากิโลกรัมละ 130 บาท  มาวางจำหน่ายหน้าสำนักงานการค้าภายใน จ.ตรัง ทุกๆ วันศุกร์ ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2554  เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนชาวตรังอีกช่องทางหนึ่งด้วย

พ่อค้าแม่ค้าแนะคุมหมูเป็นแก้ราคาแพง

จี้รัฐสกัดหมูส่งออกต่างประเทศ

นายทวี อินทรเกสร พ่อค้าขายหมูชำแหละและไก่ บริเวณตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า  สิ่งที่รัฐบาลควรจะเร่งแก้ไขโดยด่วนคือการห้ามส่งออกหมูไปยังประเทศกัมพูชา หลังการส่งออกหมูด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในขณะนี้มีมากถึง 2,000 -3,000 ตัวต่อวันหรือมากกว่า ทำให้หมูของไทยไม่พอบริโภค ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดตราดได้มีการสั่งห้ามส่งออกหมูไปยังประเทศกัมพูชาแล้ว และปัจจุบันผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา ได้หันมาซื้อไก่เพื่อการบริโภคมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกลง โดยขณะนี้ราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 44 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ 62 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายส่ง 58 บาทต่อกิโลกรัม
 
นายทวี กล่าวอีกว่า ขณะนี้พ่อค้า แม่ค้าจากกัมพูชาซึ่งเคยซื้อเนื้อหมูจากประเทศไทยได้หันไปซื้อหมูชำแหละราคาถูกจากประเทศเวียดนามแทน ทั้งนี้แม้หมูจากประเทศเวียดนามจะตัวเล็กและคุณภาพเนื้อสู้เนื้อหมูจากไทยไม่ได้ แต่ราคาขายที่ถูกกว่ากันถึงกิโลกรัมละ 5-10 บาท ก็ทำให้ผู้บริโภคก็หันไปซื้อหมูจากประเทศเวียดนามมากขึ้น ทำให้พ่อค้าเนื้อหมูในประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดนที่เคยขายได้วันละ 10-15 ตัว ก็ลดเหลือเพียง 5-10 ตัวต่อวัน
 
โวยรัฐบาลแก้ปัญหาหมูแพงไม่ถูกจุด

นางรังฮวง  แซ่เตี๊ยะ  แม่ค้าขายเนื้อหมูภายในตลาดสดเทศบาลเมืองสุรินทร์  กล่าวว่ารัฐบาลแก้ปัญหาหมูแพงไม่ถูกจุด วอนไปแก้ที่ต้นเหตุควบคุมราคาหมูเป็นที่หน้าฟาร์มดีกว่ามาแก้ปลายเหตุที่เขียงหมู หากเจ้าหน้าที่จะมาจับก็คงต้องถูกจับกันทั้งตลาดแน่  เพราะไม่สามารถรับภาระขาดทุนได้ เนื่องจากราคาหมูเป็นจากหน้าฟาร์มส่งมาแพง  จำเป็นต้องขึ้นราคาตาม  ซึ่งวันที่ 6 ส.ค.นี้ราคาหมูเป็นจากหน้าฟาร์มก็จะขึ้นอีก 3 บาท ก็ไม่รู้จะทำยังไง จึงต้องการให้รัฐบาลไปควบคุมราคาสุกรที่ต้นเหตุที่หน้าฟาร์มจะดีกว่า ที่จะมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 
 
"ถ้าราคาสุกรเป็นหน้าฟาร์มถูก  พวกตนก็รับมาขายต่อก็จะสามารถขายให้ผู้บริโภคได้ถูกตาม แต่เมื่อราคาส่งขึ้น พวกตนก็จำเป็นต้องปรับราคาตามกลไกตลาด  อย่างไรก็ตามสำหรับลูกค้าประจำตนขายเนื้อหมูให้ในราคากิโลกรัมละ 150 บาทได้ เพราะสั่งในปริมาณมาก เช่นร้านอาหารเป็นต้น  ส่วนลูกค้าจรทั่วไปก็จะขายกิโลกรัมละ 160 บาท "นางรังฮวง กล่าว

ครวญ ราคาเนื้อหมูแพง ดันต้นทุนพุ่ง

นางธีร์วรา ริพล   ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารจังหวัด และเป็นเจ้าของร้านหมูกระทะโดเรมี    กล่าวว่า สำหรับธุรกิจร้านหมูกะทะนับว่าโดนผลกระทบจากปัญหาเนื้อหมูราคาแพงด้วยเช่นกันคือมีต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งร้านหมูกระทะในจังหวัดน่านต่างขายในรูปแบบราคาบุฟเฟ่ต์ ราคาต่อคนละ 99-119 บาท  หากราคาเนื้อหมูพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องก็จะแบกรับต้นทุนไม่ไหว  และอาจจะต้องขอปรับราคาขึ้นมา เพราะไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการคงอยู่ไม่ได้ 
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้ร้านหมูกระทะส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับราคา ยังรอดูสถานการณ์ราคาหมูก่อน   นอกจากนี้ที่มีกระแสข่าวโรคไข้หวัดหมูระบาดในหลายฟาร์มของจังหวัดน่าน  ได้สร้างความวิตกให้กับประชาชนในการบริโภคเนื้อหมูเป็นอย่างมาก  และส่งผลกระทบร้านหมูกะทะ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้บริโภค  แต่ทั้งนี้ทางร้านยืนยันว่าหมูที่ใช้ในร้านซื้อมาจากฟาร์มหมูที่มีใบ รับรองจากกรมปศุสัตว์  มีแหล่งที่มาที่แน่นอน สามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าจะสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
 
เช่นเดียวกับ นางนงเยาว์  ภูเขียว อายุ 40 ปี  เจ้าของร้านหมูกระทะวีรชน   ซึ่งก็ออกมายอมรับว่าได้รับผลกระทบมาก ซึ่งนอกจากราคาหมูที่แพงแล้ว ยังมีกระแสข่าวเรื่องไข้หวัดหมูระบาดอีก ทำให้ยอดขายที่ร้านลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้จากการสำรวจในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ธุรกิจร้านหมูกะทะในจังหวัดน่านเองก็ ไม่สู้ดีนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ยอดขายลดลง  อีกทั้งยังมาเจอปัญหาราคาเนื้อหมูแพงขึ้นและโรคไข้หวัดหมูระบาด เชื่อว่าจะส่งผลกระทบให้ธุรกิจร้านหมูกระทะในจังหวัดน่านหลายร้านอาจต้องมีการปรับตัวอย่างแน่นอน