posttoday

นกเตนถล่มโคราชน้ำท่วมทั่วเมือง

29 กรกฎาคม 2554

อิทธิพลพายุโซนร้อน นกเตน ทำฝนกระหน่ำโคราชนานกว่า 3 ชั่วโมง  น้ำท่วมทั่วเมือง จวนผู้ว่าจมบาดาล ปภ.จังหวัดประกาศแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ระดับ 2

อิทธิพลพายุโซนร้อน นกเตน ทำฝนกระหน่ำโคราชนานกว่า 3 ชั่วโมง  น้ำท่วมทั่วเมือง จวนผู้ว่าจมบาดาล ปภ.จังหวัดประกาศแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ระดับ 2

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า เช้าวันนี้ ( 29 ก.ค.2554 ) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เร่งนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 30 ซม. โดยทางเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน ที่ประจำอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดและบรรดาแม่บ้านต่างต้องช่วยกันเก็บกวาดเศษซากสิ่งปฏิกูลต่างๆที่ไหลมากับน้ำ หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นวานนี้อิทธิพลของพายุโซนร้อน นกเตน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียงนานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำฝนจากพื้นที่โดยรอบตัวจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ไหลบ่าเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากท่อระบายน้ำของเขตเทศบาลส่วนใหญ่เกิดการอุดดันจนทำให้การระบายน้ำเกิดปัญหา อีกทั้งพื้นที่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อยู่ต่ำกว่าไหลถนนประมาณ 50 ซม.  ปริมาณน้ำบนถนนและพื้นที่ใกล้เคียงจึงเข้าเข้าท่วม

เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ก็ต้องประสบกับปัญหาเดียวกัน อาทิ ชุมชนเบญจรงค์ ซอย 8 , ถนนราชสีมา - โชคชัย บริเวณ 4 แยกหัวทะเล และ ตลาดปะปา ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำและเป็นแอ่งกระทะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ต่างๆมาสมทบกันจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 40 - 50 ซม. แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่เกิดน้ำท่วมขังทางเทศบาลนครนครราชสีมา ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกมาทำการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่อุดดันท่อระบายน้ำเพื่อให้การระบายน้ำทำได้โดยสะดวกขึ้นจนสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. ของคืนที่ผ่านมา จะเหลือเพียงแต่ที่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแอ่งรองรับน้ำและยังไม่สามารถที่จะระบายน้ำออกได้ จนเป็นเหตุให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ต้องนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการด่วน ซึ่งคาดว่าประมาณเที่ยงวันนี้จะสามารถสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในจวนผู้ว่าฯออกมาได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมายืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังดังกล่าวเกิดจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันจนทำให้ระบายน้ำไม่ทัน ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่เป็นระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนสถานการณ์การเกิดน้ำท่วมนั้นจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว ซึ่งมีคลองน้ำไหลผ่านพื้นที่เขตอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน และอำเภอเมืองนครราชสีมา ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 214 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเขื่อนทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร) ขณะที่เขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งมีคลองน้ำไหลผ่านพื้นที่เขตอำเภอปักธงชัย และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก็ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกเกือบ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเขื่อนทั้งหมด 110 ล้านลูกบาศก์เมตร) อย่างไรก็ตามทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศแจ้งเตือนภัยระดับ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ หมายถึง มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมให้ประชาชนเฝ้าระวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันทางสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ซึ่งดูแลรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา , บุรีรัมย์ , สุรินทร์ และศรีสะเกษ ได้ออกหนังสือเวียน ลงวันที่ 27 ก.ค.2554 เพื่อแจ้งให้หน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศว่า พายุโซนร้อน “นกเตน”(NOCK TEN) จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนประมาณวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงระหว่าง วันที่ 30 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และให้ระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง  พร้อมกับสั่งการให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ หากมีปริมาณน้ำกักเก็บเกิน 80 % ให้พิจารณาทำการพร่องน้ำออกจากอ่างโดยทันที แต่ห้ามมิให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ด้านล่างที่จะส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่

ล่าสุดขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกิน 80 % จำนวน 1 แห่ง คือที่อ่างเก็บน้ำลำพรเพลิงตอนบน ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุวอยู่ที่ 101.41 % ซึ่งขณะนี้ได้มีการพร่องน้ำออกจากอ่างเป็นระยะๆแล้ว  ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่มีอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่งนั้นปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 57 % และยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกจำนวนมาก โดยล่าสุดประมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อยู่ที่ 204.350 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 314.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62.25 % , อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 68.980 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 141.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.25 %  , อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 169.510 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 275.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60.64 % , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 63.140 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 109.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57.03 % , อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ 53.240 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 98.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น   49.54 % และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ 63.333 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมด 121.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50.77 %

 

นกเตนถล่มโคราชน้ำท่วมทั่วเมือง น้ำท่วมจวนผู้ว่าฯโคราช หลังพายุนกเตนถล่ม ทำฝนตกนาน 3 ชม.