posttoday

ผู้ป่วยเสี่ยงขาดแคลนน้ำยาล้างไต! หลังเปลี่ยนระบบจัดซื้อยา

02 ตุลาคม 2560

เปลี่ยนระบบจัดซื้อยารวมทำวุ่น ไร้หน่วยงานสั่งซื้อน้ำยาล้างไต สต๊อกเหลือไม่เกิน 2 เดือน

เปลี่ยนระบบจัดซื้อยารวมทำวุ่น ไร้หน่วยงานสั่งซื้อน้ำยาล้างไต สต๊อกเหลือไม่เกิน 2 เดือน

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต เปิดเผยว่า การเปลี่ยนระบบจัดซื้อยารวม ทำให้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสั่งซื้อน้ำยาล้างไตแต่อย่างใด คาดว่าภายในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือน พ.ย.นี้ น้ำยาล้างไตจะขาดแคลน และจะเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยไตวาย 2.5 หมื่นคนทั่วประเทศ

นายธนพลธ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนระบบการจัดซื้อยารวม โดยให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสั่งซื้อ จากการตรวจสอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ พบว่าน้ำยาล้างไตที่สต๊อกอยู่ตามบ้านผู้ป่วยกำลังวิกฤต หากส่งล่าช้ากว่ากำหนดเพียง 1 วัน ก็จะขาดสต๊อกทันที

“ตอนนี้ยังไม่ขาดแคลนแต่มีสัญญาณมาแล้ว กระบวนการจัดส่งเริ่มล่าช้า มีการบริหารน้ำยาอย่างเข้มงวดมาก ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 2.5 หมื่นราย โดยต้องล้างไตวันละ 4 ครั้ง แต่ละคนหากขาดน้ำยาล้างไตไม่เกิน 3 วันจะต้องเสียชีวิต หรือไม่ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมปอด แต่ในขณะนี้กลับพบว่าน้ำยาล้างไตเหล่านั้นกำลังจะขาดแคลนจากระบบ”นายธนพลธ์ กล่าว

ประธานชมรมเพื่อนโรคไตกล่าวอีกว่า ในอดีต สปสช.เป็นผู้จัดซื้อยามา 10 ปี ผู้ป่วยไม่เคยได้รับผลกระทบ เหตุใดเมื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเกิดผลกระทบต่อระบบมากมายเช่นนี้ โดยในวันที่ 3 ต.ค.นี้ ชมรมเพื่อนโรคไตจะประชุมใหญ่เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น องค์การเภสัชกรรมก็ไม่กล้าสั่งซื้อยาเพราะกลัวผิดกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนคนไข้กำลังถูกจับเป็นตัวประกัน

ก่อนหน้านี้ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย ก็ออกมาเปิดเผยว่า การเปลี่ยนระบบการจัดซื้อยา ทำให้ยาต้านไวรัสกำลังจะขาดแคลนเนื่องจากยังไม่มีการสั่งซื้อเช่นกัน และยาต้านไวรัสที่มีอยู่จะหมดลงในอีกประมาณ 2 เดือน หรือเดือน พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยบริการจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ผู้ติดเชื้อครั้งละ 3-4 เดือน แต่ขณะนี้พบสัญญาณว่ายาต้านไวรัสกำลังจะขาดแคลน หน่วยบริการเริ่มจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อครั้งละเพียง 1 เดือน หรือในบางแห่งถึงกับจ่ายเป็นรายสัปดาห์