posttoday

แพทย์ชี้ตึกสูงหลายแห่งในกทม.ยังไม่มีลิฟท์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย

01 ตุลาคม 2560

หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เผยตึกสูงในกทม.หลายแห่งไม่มีลิฟท์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตลดลง

หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เผยตึกสูงในกทม.หลายแห่งไม่มีลิฟท์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตลดลง

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายแพทย์ไพโรจน์  เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี  กล่าวถึงกรณีปัญหาการเคลื่อนย้านผู้ป่วยฉุกเฉินลงจากตึกสูงว่า ปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินลงจากตึกสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ยิ่งปัจจุบันมีการก่อสร้าง อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียมที่มีความสูง เป็นจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องเคลื่อนย้ายลงจากตึกสูงจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจและได้รับการกดหน้าอกเพื่อช่วยฟื้นคืนชีพซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและรีบนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาล เพราะทีมกู้ชีพเป็นเพียงทีมเฉพาะหน้า ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ในขณะที่เครื่องมือและทีมการรักษาจำเพาะทางการแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาล

คำถามคือ ทีมกู้ชีพจะดำเนินการได้อย่างไร เพื่อช่วยคนไข้ที่หยุดหายใจและต้องปั๊มหัวใจตลอดและต่อเนื่องระหว่างการย้ายผู้ป่วยลงจากตึกไปขึ้นรถฉุกเฉิน

"โดยทั่วไป การเคลื่อนย้ายคนไข้ฉุกเฉินลงจากตึกสูง ที่ผ่านมา จะมีรูปแบบการทำงานได้ 2 ประเภท คือ คนไข้ที่นั่งรถเข็นได้ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการเคลื่อนย้าย และ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนบนเปลหรือเตียงระหว่างเคลื่อนย้าย มักเป็นคนไข้ที่มีอาการหนัก แต่กลับไม่มีลิฟท์ขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับให้คนไข้ฉุกเฉินที่ต้องนอนราบบนเตียงสามารถเข็นเข้าไปได้  เวลาเกิดเหตุหน่วยกู้ชีพต้องใช้วิธี นำคนไข้ให้นอนรัดติดกับแผ่นรองแข็งแล้วจับแผ่นให้วางตั้งขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับการกดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง ทีมกู้ชีพก็ต้องยืนพร้อมทำการกดหน้าอกตามผู้ป่วยที่อยู่ในท่าวางตั้งขึ้น หากเป็นตึกสูงที่ไม่มีลิฟท์ ก็จะใช้การยกลงบันได ทำให้การช่วยฟื้นคืนชีพไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง หรือมีคุณภาพ ในการช่วยเหลือ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วย อีกทั้งมีผลต่อทีมกู้ชีพหรือผู้ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยชีวิต  เพื่อโอกาสที่จะรอดชีวิตหรือพ้นวิกฤตของผู้ป่วย แม้จะน้อยมาก แต่หากไม่นำผู้ป่วยลงมาจากตึกสูง โอกาสรอดจะไม่มีเลย"นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าว

หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ กล่าวด้วยว่า ยิ่งในอนาคต เราจะมีรูปแบบของการใช้ชีวิตอยู่บนตึกสูงเพิ่มมากขึ้น แต่หากยังคงไม่มีลิฟท์เพื่อรองรับในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนก็คงจะไม่มีความปลอดภัย ขณะนี้ ทางคณะกรรมการ บูรณาการประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ก็ได้เริ่มมีการเดินหน้ากำหนดแผนที่จะออกเป็นกฎระเบียบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับมาตฐานของอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่โดยเร่งด่วน และอยากเห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ใส่ใจต่อเรื่องนี้  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในอาคารสูงที่จะสร้างขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อส่งผลได้อย่างจริงจังและมีความยั่งยืน