posttoday

ภาคประชาชนหวั่นนโยบายจัดซื้อยาใหม่กระทบผู้ป่วยเรื้อรัง

28 กันยายน 2560

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพหวั่นผลกระทบนโยบายการจัดซื้อยาใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้ พร้อมเรียกร้องให้พล.ร.อ.ณรงค์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดช่องรับฟังประชาชน

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพหวั่นผลกระทบนโยบายการจัดซื้อยาใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้ พร้อมเรียกร้องให้พล.ร.อ.ณรงค์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดช่องรับฟังประชาชน

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โครงการการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อนโยบายของรัฐเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย สวรส. ร่วมกับแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กพย. จัดเสวนาวิชาการผลกระทบของนโยบายการจัดซื้อยาใหม่และกลไกสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย พร้อมด้วยเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ อาทิ ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ตัวแทนจาก สปสช. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ร่วมกันประเมินสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบขนาดใหญ่กับผู้ป่วยเรื้อรังและระบบการกระจายยาทั่วประเทศ

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้ว่า เกิดปัญหาเรื่องน้ำยาล้างไตจัดส่งช้าลงรวมถึงคลังเก็บน้ำยาไม่มีให้ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งคนป่วยไตวายในประเทศมีราว 25,000 คน และผู้ป่วยไตวายแต่ละคนต้องทำการล้างหน้าท้องวันละ 4 ครั้ง หากขาดน้ำยาก็จะทำให้เกิดภาวะของเสียคลั่ง เป็นฉนวนของน้ำท่วมปอดในไม่ช้า เช่นเดียวกับ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากเดิมผู้ติดเชื้อจะได้รับยา 3-4 เดือนต่อครั้ง แต่ ณ ปัจจุบันทางโรงพยาบาลขอให้มารับยาเดือนละครั้งหรือในกรณีที่แย่กว่านั้นคือสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแย่ลงของระบบสุขภาพไทย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของผู้ป่วยที่ต้องทำการลางานเพื่อมารับยาในระยะเวลาที่บ่อยเกินไป นอกจากนี้หากเข้าสู่ภาวะขาดยาก็จะส่งผลให้เกิดการดื้อยาอันนำไปสู่การเปลี่ยนยายี่ห้ออื่นที่มีราคาแพงขึ้น 8-10 เท่า

ตัวแทนผู้ให้บริการอย่าง ภก.รังสรรค์ ศิริชัย จากโรงพยาบาลอำนาจเจริญ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่แสดงจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะนี้อยู่ที่เกือบ 3 ร้อยล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยในที่นอน รพ. อีกกว่า 26 ล้านคนต่อวัน มูลค่าการซื้อทั้งหมดปีนี้ราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการแสดงถึงภาระที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยขณะนี้ผู้ให้ผู้บริการในหลายๆ สถานพยาบาลต้องเผชิญปัญหากับความไม่ชัดเจนของระบบที่กำลังเปลี่ยนจากมือ สปสช. ไปยัง รพ.ราชวิถี รวมไปถึงปัญหาข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่พึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาที่สร้างปัญหาด้านการจัดซื้อยาอย่างยิ่ง

"ในฐานะผู้ให้บริการไม่ได้สนใจเลยว่าใครจะเป็นคนซื้อ สิ่งที่เราสนใจมากที่สุดคือมียาให้บริการกับผู้ป่วย จากสิ่งที่เป็นข้อท้วงติงจาก สตง.นั้น ทำให้เราต้องเตรียมแผนรองรับ คือ ต้องเตรียมเงินสำรองของโรงพยาบาลไว้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไว้รองรับหากเกิดปัญหาขึ้นจะต้องมีเงินไว้ซื้อยาบ้าง อย่าง รพ. ผม ซื้อยาเองสัก 90 ล้านบาท แล้วยาที่เคยได้รับสนับสนุนจาก สปสช. หรือหน่วยงานอื่นๆ ราว 10 ล้านบาท ยาพวกนี้ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ซื้อได้เพราะบริษัทยามักดูเครดิต ประวัติการชำระเงินต่างๆ ซึ่งหาก รพ. ที่ประวัติการเงินไม่ค่อยดีต้องการซื้อยาก็ต้องเข้าคิวรอต่อไป เมื่อพูดถึงการซื้อยาแล้วการซื้อของทีละ รพ. มันไม่ได้ราคาเท่าเดิมแน่นอน อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือกี่เท่าก็แล้วแต่บริษัทเพราะเราไม่ได้มีอำนาจที่จะต่อรองกับเขา"

ด้านนายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ หัวหน้าทีมส่งเสริมธรรมภิบาลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) ให้มุมมองว่า การจัดซื้อร่วมที่มีประสิทธิภาพต้องประกอบด้วย 4 อย่าง คือ 1.ต้องมีหลักการในการจัดซื้อจัดจ้างรวมที่ชัดเจน 2.ต้องมีความชัดเจนทางด้านกฎหมาย 3.หน่วยงานที่ดำเนินการต้องแสดงจุดยืนและแสดงความรับผิดชอบแบบชัดเจน 4.มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพและโปร่งใส ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อยาต่อต้องควรนำหลักการเช่นนี้ไปใช้ นอกจากนี้ทาง UNDP มีการเสนอให้ประเทศไทยลดความเสี่ยงทางจริยธรรมในระบบสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม นางกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงาน FTA Watch กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ สธ. ไปรับฟังความคิดเห็นนั้นมีการปรับแก้และส่งไปที่ ครม. แต่ทาง ครม. ยังไม่รับ ซึ่งพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้ทาง สธ. เข้าชี้แจ้งรายประเด็น เช่น การแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว การเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการสองคนทั้งสองคณะกรรมการ และเรื่องการจัดซื้อยาร่วม โดยตนเองและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอเรียกร้องให้พล.ร.อ.ณรงค์ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายอื่นๆ รวมถึงนักวิชาการด้านสุขภาพ ไม่ใช่ฟังความเห็นจาก สธ. เท่านั้น ซึ่งมีโอกาสที่ปัญหาของ รพ. เล็กๆ ในหลายพื้นที่อาจไม่ถูกหยิบขึ้นมาเสนอในที่ประชุม ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยืนยันว่า จะยื่นหนังสือต่อพล.ร.อ.ณรงค์ ภายในสัปดาห์หน้า