posttoday

แพทย์เผยบุหรี่ไฟฟ้าทำวัยรุ่นเสพติดง่าย ชี้มีโทษไม่ต่างจากบุหรี่ปกติ

11 มกราคม 2560

แพทย์ชี้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษเทียบเท่าการสูบบุหรี่ปกติ แถมทำให้วัยรุ่นเกิดการเสพติดได้ง่าย ย้ำไม่ได้เป็นการทดแทนการเลิกสูบบุหรี่

แพทย์ชี้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษเทียบเท่าการสูบบุหรี่ปกติ แถมทำให้วัยรุ่นเกิดการเสพติดได้ง่าย ย้ำไม่ได้เป็นการทดแทนการเลิกสูบบุหรี่

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  นำเสนอข้อมูลจากเอกสาร THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young  Adults ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาภายในงานเสวนา เรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด" จัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ว่า บุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-Cigarettes เป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอยโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้  ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจและทันสมัย คล้ายซิการ์ ปากกา สีสันสวยงาม ปรุงรสชาติต่าง ๆ เช่น รสเชอร์รี่ ช็อกโกแลต วานิลลา 

ทั้งนี้ใน 2-3 ปีมานี้ วัยรุ่นของสหรัฐอเมริกา มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในกลุ่มเยาวชน ระดับชั้นประถมปลายและมัธยม และใช้อย่างต่อเนื่องในระยะ 30 วัน ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลักคือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบรสชาติ และเข้าใจว่าละอองฝอยปลอดภัยเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ อีกทั้งอุตสาหกรรมยาสูบได้ใช้เทคนิคที่ล่อตา ล่อใจ รวมถึงการสร้างค่านิยมวัยรุ่นแบบใหม่

"จริง ๆ แล้วการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษต่าง ๆ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสารนิโคตินหากเข้าในกระแสเลือดของแม่ที่สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์สามารถผ่านรกมาส่งผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อทารกมากมายรวมไปจนถึงการเสียชีวิตกะทันหัน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อสมองและระบบประสาทด้านการได้ยิน น้ำหนัก ที่อาจทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ"รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า ในรายงานนี้ระบุว่า ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เรื่องการได้รับสารนิโคตินในวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะทำให้วัยรุ่นเกิดการเสพติดได้อย่างง่ายดาย และส่งผลทำลายสมองส่วนคิดชั้นสูงของวัยรุ่น  และสารต่าง ๆ ที่รับเข้าไปโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ซึ่งองค์การอาหารและยาระบุว่า สารที่ก่อให้เกิดละอองฝอยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารที่ใช้ในอาหารเพื่อรสชาติ สีสัน ทั้งในการผลิตยาหรือ เวชภัณฑ์เครื่องสำอางค์  หากสัมผัสสารนี้ในระยะสั้นก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจและ ระคายเคืองตา และหากสัมผัสในระยะยาว ก็จะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด เป็นต้น

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า  บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่แต่อย่างใด แต่เป็นจุดเริ่มตั้งต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่น ๆ ในเด็กและเยาวชน ด้วยรูปลักษณ์และองค์ประกอบทำให้สร้างความยั่วยวนใจในวัยรุ่นให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสในวงกว้างในหมู่วัยรุ่นอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิต  รวมทั้งภาครัฐยังขาดการจัดการเชิงกฎหมายเพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์  ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี  ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่า เยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปัจจุบัน จึงมีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย 

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์  2558 กรณีพบผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายหรือให้บริการเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งนำเข้ามาขาย ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 7 (COP7) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2559 ​ณ ประเทศอินเดีย มีมติร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศภาคี 180 ประเทศ ให้ความสำคัญและดำเนินการออกกฎเกณฑ์มาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเร็ว 

ขณะที่ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถ้าเราติดตามข่าวเกี่ยวกับบุหรี่  คงได้เห็นความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการดิสเครดิตรัฐบาลไทย โดยกล่าวหาว่าผู้แทนจากประเทศไทย ถูกที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งจัดประชุมที่ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน เชิญให้ลงจากเวที เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้แทนไทยปลุกระดมประเทศสมาชิกให้ออกมาต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ และต่อมา นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

ในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 55 ประเทศ มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศของตน มี 17 ประเทศ ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอีก 26 ประเทศกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบหนึ่ง มี 4 ประเทศที่กำหนดว่าภาชนะบรรจุนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษ ทั้งนี้ 1/4 ของประเทศในอาเซียนคือ ประเทศบรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย ได้ห้ามไม่ให้มีการจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

ภาพ...เอเอฟพี